ความเป็นมาของบัณฑิตวิทยาลัย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรง สถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น โดยให้ย้ายการสอนพระปริยัติธรรม จากศาลาบอกพระปริยัติธรรมภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปตั้งที่วัดมหาธาตุ เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและคฤหัสถ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ และโปรดให้เรียกว่า มหาธาตุวิทยาลัย
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้คิดแบบสร้าง ถาวรวัตถุเรียกว่า สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ขึ้นในวัดมหาธาตุ เพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และทรงประสงค์จะอุทิศถาวรวัตถุนี้เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมและวิชาชั้นสูง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ และได้พระราชทานเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์
หลังจากนั้นเป็นระยะเวลา ๕๑ ปี คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย จำนวน ๕๗ รูป มีพระพิมลธรรม ( ช้อย ฐานทตฺตเถร ) เป็นประธานมีมติให้ดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมาโดยจัดการศึกษาเฉพาะในระดับปริญญาตรี หลังจากนั้นเป็นระยะเวลา ๔๑ ปี จึงได้มีการตั้งหน่วยงานบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นเพื่อจัดการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยแนวปฏิบัติตามความในคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๒ ข้อ ๕ (๒) ว่าด้วยการพิจารณา จัดตั้ง ยุบ รวมและเลิกล้ม คณะ วิทยาลัยบัณฑิตวิทยาลัย ภาควิชา และหรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นในมหาวิทยาลัย และข้อ ๗ ความว่า “ถ้าเป็นการสมควรมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่งจะร่วมกันจัดการศึกษาขั้นบัณฑิตวิทยาลัยอีกส่วนหนึ่ง โดยอนุมัติของสภามหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ ก็ได้”
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงมีประกาศที่ ๖๕/๒๕๒๙ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๙ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อดำเนินการยกร่างโครงการบัณฑิตวิทยาลัยและหลักสูตรปริญญาโท ประกอบด้วย
๑. พระเมธีสุทธิพงศ์ (ระวัง วชิรญาโณ) ประธานกรรมการ
๒. พระมหาณรงค์ จิตฺตโสภโณ[1] กรรมการ
๓. พระมหาทองสูรย์ สุริยโชโต[2] กรรมการ
๔. พระมหาจรรยา ชินวํโส[3] กรรมการ
๕. พระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต[4] กรรมการ
๖. นายจำนงค์ ทองประเสริฐ กรรมการ
๗. รศ.ดร.จำลอง สารพัดนึก กรรมการ
๘. รศ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก กรรมการ
๙. ดร.ชาย โพธิสิตา กรรมการ
คณะกรรมการชุดนี้ได้ประชุมติดต่อกันเป็นเวลา ๖ เดือน ยกร่างหลักสูตรระดับปริญญาโทขึ้น ๔ สาขา คือ สาขาบาลี, สาขาพระพุทธศาสนา, สาขาปรัชญาและสาขาศาสนาขึ้น และสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติหลักสูตรทั้ง ๔ สาขานี้ ในคราวประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๓๐ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐบาล โดยการนำของ ฯพณฯ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เสนอให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชมหาราช ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ส่งผลให้มหาวิทยาลัย มีพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐบาล และเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจเน้นจัดการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
[1] ปัจจุบัน คือ พระราชปวราจารย์, รศ.ดร. อดีตรองอธิการบดีวิทยาเขตนครราชสีมา
[2] ปัจจุบัน คือ พระเทพกิตติโมลี เจ้าอาวาสวัดศรีนครินทรวราราม ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
[3] ปัจจุบัน คือ พระเมธีรัตนดิลก, ดร. อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์
[4] ปัจจุบัน คือ พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ความเป็นมาของบัณฑิตศึกษา วิทยาเขตขอนแก่น
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พระราชสารเวที (เหล่ว สุมโน) เจ้าอาวาสวัดธาตุ พระอารามหลวง และรองเจ้าคณะภาค ๙ ในสมัยนั้น มีความดำริจัดตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อเป็นสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรในจังหวัดขอนแก่น ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๙ และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความสนับสนุนของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) นายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและพระเถรานุเถระทุกระดับในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่น เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมจึงเสนอเรื่องขออนุมัติการจัดตั้งไปยังมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้อนุมัติให้จัดตั้งวิทยาเขตขอนแก่นเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๘ ตามหนังสือที่ ๗๑๔/๒๕๒๘ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๘ โดยใช้ชื่อเป็นทางการว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น” ได้เปิดภาคการศึกษาครั้งแรกในระดับปริญญาตรี เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ วัดธาตุ พระอารามหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในคณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาเอกศาสนา มีนิสิตจำนวน ๒๑ รูป ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น” และมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และในปี ๒๕๕๐ ได้ย้ายที่ทำการแห่งใหม่ไปที่อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) เลขที่ ๓๐ หมู่ ๑ บ้านโคกสี ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดที่ทำการแห่งใหม่เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๐
ต่อมาในปี ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ได้พิจารณาเห็นสมควรขยายการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จึงได้บรรจุโครงการเปิดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา ไว้ในแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะที่ ๘ (๒๕๔๐ – ๒๕๔๔) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานการขยายห้องเรียนบัณฑิตศึกษา ตามคำสั่งที่ ๓๖/๒๕๔๓ เพื่อดำเนินการยกร่างโครงการขอเปิดหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนาประกอบด้วย
๑. รองอธิการบดี ประธาน
๒. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป รองประธาน
๓. ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตขอนแก่น กรรมการ
๔. ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ กรรมการ
๕. นายอุดร จันทวัน กรรมการ
๖. นายพุทธชาติ คำสำโรง กรรมการ
๗. รศ.อุดม บัวศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๘. รศ.ดร.เอกฉัท จารุเมธีชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๙. ผศ.ดร.ประยงค์ แสนบุราณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๑๐. ดร.สมหวัง แก้วสุฟอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๑๑. พระครูปลัดสุกันยา อรุโณ[1] กรรมการและเลขานุการ
๑๒. นายโสวิทย์ บำรุงภักดิ์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
๑๓. นายสุรพร ตุ่นป่า กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ซึ่งคณะกรรมการได้ปรารภถึงพัฒนาการของวิทยาเขตขอนแก่นได้จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ เป็นต้นมา สามารถเปิดสอน ๕ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน สาขาวิชารัฐศาสตร์ (การเมือง-การปกครอง) สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและสาขาวิชาภาษาต่างประเทศ ผลิตพระบัณฑิตไปแล้วจำนวน ๑๓ รุ่น พระบัณฑิตจำนวนมากเหล่านั้นมีความประสงค์จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท แต่มีปัญหาและอุปสรรคในการศึกษาเพราะการเดินทางไปศึกษาต่อในส่วนกลางและต่างประเทศ เป็นเรื่องลำบากทั้งเรื่องที่พักอาศัยและเงินทุนการศึกษา หากมีการขยายโอกาสการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามาไว้ที่วิทยาเขตขอนแก่น ย่อมอำนวยความสะดวกและการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้พระบัณฑิตมีโอกาสศึกษาในระดับสูงได้ และในปัจจุบันวิทยาเขตขอนแก่นมีศักยภาพทั้งด้านบุคลากร อาคารสถานที่ วัสดุครุภัณฑ์ตลอดถึงห้องสมุดเทคโนโลยีสารสนเทศ การขอเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม
จากเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น จึงได้เสนอโครงการขอเปิดหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาไปสู่วิทยาเขตในส่วนภูมิภาค
๒. เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าวิจัยวิชาการทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศใกล้เคียง
๓. เพื่อผลิตมหาบัณฑิตทางพระพุทธศาสนาให้มีความรู้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง
ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น จึงเสนอโครงการเปิดสอนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๔๕ เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับบรรพชิต
พ.ศ. ๒๕๔๙ เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับคฤหัสถ์
พ.ศ. ๒๕๕๒ เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา แบบ ๒.๑
พ.ศ. ๒๕๕๒ เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา
พ.ศ. ๒๕๕๔ เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๔ เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา[2]
พ.ศ. ๒๕๕๘ เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา แบบ ๒.๑
พ.ศ. ๒๕๖๐ เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา[3]
พ.ศ. ๒๕๖๒ เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา แบบ ๑.๑ และ ๒.๑
พ.ศ. ๒๕๖๓ เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา แบบ ๑.๑ และ ๒.๑
[1] ปัจจุบัน คือ พระโสภณพัฒนบัณฑิต, รศ.ดร. (สุกันยา อรุโณ) รองอธิการบดีวิทยาเขตขอนแก่น
[2] ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็น ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา
[3] ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็น ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา