วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์

วิสัยทัศน์ (Vision)

“พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน”

ในการกำหนดวิสัยทัศน์นั้น ได้อาศัยแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็นต้นแบบในการกำหนดทิศทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

พุทธศาสน์มั่นคง (มั่นคง) เป็นการแสดงถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนา อันเป็น ๑ ใน ๓ สถาบันหลักของชาติ พุทธบริษัทมีความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีและมีอัตราที่เพิ่มขึ้นของผู้ศึกษาพระปริยัติธรรม มีศูนย์ข้อมูลด้านพระพุทธศาสนาของโลก

ดำรงศีลธรรม (มั่งคั่ง) แสดงถึงพุทธบริษัทนำหลักธรรมไปใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจาวันได้อย่างเหมาะสม อาศัยการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลในการอยู่ร่วมกัน

นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน (ยั่งยืน) เป็นผลที่เกิดจากการศึกษาในหลักปริยัติ แล้วนำไปปฏิบัติจนเป็นปฏิเวธ คือผลลัพธ์ที่จะนำสังคมให้มีสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยมีเทียบจากอันดับความสันติสุขระดับประเทศ

พันธกิจ (Mission)

การจะทำให้วิสัยทัศน์บรรลุผลได้ ต้องดำเนินการตามพันธกิจหรือภาระงานคณะสงฆ์ ๖ ด้าน คือ
    ๑. ด้านการปกครอง
    ๒. ด้านศาสนศึกษา
    ๓. ด้านศึกษาสงเคราะห์
    ๔. ด้านเผยแผ่
    ๕. ด้านสาธารณูปการ
    ๖. ด้านสาธารณสงเคราะห์

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เพิ่มภาระงานพิเศษอีก ๑ ด้าน คือ ด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

ค่านิยม (Core Value)

“อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา สู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน”

แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

คณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ ๔ ด้าน คือ
    ๑. สร้างความมั่นคงด้านพระพุทธศาสตร์
    ๒. ยกระดับกระบวนการบริหารจัดการภายใน
    ๓. พัฒนาองค์กร แห่งการเรียนรู้เชิงพุทธ และ
    ๔. มีทรัพยากรเพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนา

เพื่อให้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา บรรลุวัตถุประสงค์ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด คณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (คปพ.) จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งมีโครงการเชิงยุทธศาสตร์ จำนวน ๑3 + 1 โครงการ ประกอบด้วย
    ๑. โครงการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่สังคม
    ๒. โครงการยกระดับหมู่บ้านรักษาศีล ๕
    ๓. โครงการวิปัสสนากรรมฐานเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์
    ๔. โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาพระปริยัติธรรม
    ๕. โครงการส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย
    ๖. โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล
    ๗. โครงการพระพุทธศาสนา ๔.๐ (Smart Card) (ฐานข้อมูลศาสนบุคคล)
    ๘. โครงการส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพุทธ
    ๙. โครงการพัฒนาขีดความสามารถศาสนบุคคล
    ๑๐. โครงการพัฒนาศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา
    ๑๑. โครงการบริหารจัดการศาสนสมบัติ (ระบบการเงิน - บัญชี)
    ๑๒. โครงการวัดสร้างสุขด้วยกิจกรรม ๕ ส
    ๑๓. โครงการสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคม
    ๑๔. โครงการพัฒนาพุทธมณฑลสู่ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

ในยุทธศาสตร์และโครงการดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย ๑๐ กลยุทธ์ และ ๑๔ ตัวชี้วัด มีความสอดคล้องกับอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับงานคณะสงฆ์ ๖ ประเภท ซึ่งมหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้พระสังฆาธิการปฏิบัติ ดังนี้
    ๑. การปกครอง การปกครองคณะสงฆ์ มีแบบแผนที่วางไว้เป็นแนวปฏิบัติในการปกครองคณะสงฆ์ เรียกว่า “ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์” แบ่งออกได้ ๒ ส่วน ได้แก่ ๑) ส่วนหลัก ได้แก่ แบบแผนกำหนดหน่วยงาน เขตปกครอง ผู้ปกครองหรือผู้รับมอบงาน หรือคณะผู้รับมอบงาน ๒) ส่วนย่อย ได้แก่ แบบแผน กำหนดอำนาจหน้าที่ การควบคุมบังคับบัญชาการประสานงาน ผู้รักษาการแทน และวิธีปฏิบัติอื่นๆ
    ๒. การศาสนศึกษา หมายถึง การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาทั้งของบรรพชิตและคฤหัสถ์หรือการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรม โดยแบ่งการศาสนศึกษาออกเป็น ๒ แผนกหลัก คือแผนกบาลี และแผนกธรรม รวมถึงการศึกษาธรรมศึกษาและการจัดให้มีการเรียนพระธรรมวินัยเป็นส่วนเสริมอีกด้วย บางแบบแผนตราไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และบางแบบแผนให้กำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคม หรือให้กำหนดโดยระเบียบมหาเถรสมาคม และบางแบบแผนได้ยึดจารีตเป็นหลัก แยกตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายมี ๒ ส่วน คือ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง ๑ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ๑ และพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการวัด เห็นควรเพิ่มระเบียบการปกครองส่วนวัดเข้าเป็นส่วนที่ ๓การปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนทุกชั้นให้มีเจ้าคณะเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาวัดและพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้นๆ
    ๓. การศึกษาสงเคราะห์ หมายถึง การจัดการศึกษาเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล และการช่วยเหลือเกื้อกูลการศึกษา หรือสถาบันการศึกษาอื่น นอกจากการศาสนศึกษา หรือบุคคลผู้กำลังศึกษา โดยแบ่งออกเป็น ๕ ประเภทคือ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนตามพระราชประสงค์ โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และโรงเรียนอบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด ทั้งนี้ การตั้งทุนสงเคราะห์นักเรียนเป็นงานหนึ่งของคณะสงฆ์ จัดอยู่ในการศึกษาสงเคราะห์ที่เป็นงานของคณะสงฆ์ ดำเนินการโดยคณะสงฆ์ เพื่อประชาชน มีหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ชัดเจนตามประกาศของมหาเถรสมาคมและข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗, ๒๕๒๙ และ ๒๕๓๒ ตามลำดับ
    ๔. การเผยแผ่ หมายถึงการทำให้ขยายออกไปการทำให้ขยายวงกว้างออกไป ทำให้แพร่หลายออกไปการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้แก่ การดำเนินงานเพื่อให้หลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปในทุกสารทิศ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใส เคารพในพระรัตนตรัย น้อมนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติมในการเผยแผ่การเผยแผ่พระพุทธศาสนามีทั้งเชิงรับและเชิงรุก บางที่ถ้าไม่ได้ทำความเข้าใจให้ดีก็จะไม่เห็นความแตกต่างในเรื่องนี้ ขณะที่พูดถึงการเผยแผ่เชิงรับ หมายถึง การเผยแผ่ด้วยการเทศน์การสอนธรรมเป็นหลักส่วนการเผยแผ่เชิงรุก หมายถึง การใช้การสงเคราะห์ในรูปแบบต่างๆ เป็นตัวนำคนเข้าหาธรรม ดังนั้น การศึกษาสงเคราะห์และสาธารณสงเคราะห์จึงเป็นวิธีการเผยแผ่เชิงรุกเวลาที่พระสงฆ์ทำเรื่องขอเลื่อนหรือตั้งสมณศักดิ์ ผลงานด้านเผยแผ่ก็จะอยู่ที่ว่ามีคนเข้าวัดถือศีลฟังธรรมจำนวนเท่าไร มีคนเวียนเทียนจำนวนเท่าไร อย่างนี้เรียกว่า การเผยแผ่เชิงรับแม้แต่การที่พูดถึงการเผยแผ่ของพระอัสสชิ แค่ท่านไปบิณฑบาตในหมู่บ้านอุปติสสะปริพาชกเห็นท่านแล้วเลื่อมใสมาขอฟังเทศน์ พระอัสสชิก็เทศน์ว่า “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา” เป็นต้น อุปติสสะฟังแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมมาขอบวช นี่ก็เป็นการเผยแผ่เชิงรับ
    ๕. การสาธารณูปการ หมายถึง การก่อสร้างและการบูรณปฏิสังขรณ์ ได้แก่ ๑) การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนวัตถุและศาสนสถาน ๒) การอื่นเกี่ยวกับการวัดคือการสร้างการตั้ง การรวม การย้าย การยุบเลิก การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา การยกวัดร้างเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา และการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ๓) กิจการอื่นๆ ของวัด เช่น การจัดงานวัด การเรี่ยไร และ ๔) การศาสนสมบัติของวัด (ศบว.) อย่างไรก็ตาม การสาธารณูปการเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ที่ผู้ปฏิบัติโดยตรงคือเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระสังฆาธิการระดับวัด และเจ้าคณะทุกส่วนทุกชั้นต้องมีความสัมพันธ์กัน ๒ ประการ คือ ควบคุมการสาธารณูปการ และส่งเสริมการสาธารณูปการ
    ๖. การสาธารณสงเคราะห์ จะเห็นได้ว่าคณะสงฆ์ให้ความสำคัญต่อการสาธารณสงเคราะห์ ของศาสนาที่จัดกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ ที่พระสงฆ์หรือวัดต่างๆ จัดทำอยู่ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ๖ คือ ๑) การดำเนินกิจการเอง เช่น กิจการห้องสมุดเพื่อประชาชน การตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือคนยากจนหรือช่วยเหลือคราวประสบภัยพิบัติ การกำหนดเขตอภัยทาน ๒) การเกื้อกูลกิจการของผู้อื่น เช่นการพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน การช่วยเหลือทางราชการในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ๓) การเกื้อกูลสาธารณสมบัติ เช่น การสร้างถนนหนทาง การขุดลอกคูคลอง การสร้างฌาปนสถาน การสร้างประปาและไฟฟ้า และ ๔) การเกื้อกูลประชาชนและสรรพสัตว์ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การสงเคราะห์คนชราและคนพิการ หรือการสงเคราะห์โดยประการอื่น

ในการอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ระยะ ๕ ปี และ ๒๐ ปี ซึ่งเกิดจากการระดมความคิด กลั่นกรองและเห็นชอบร่วมกันของคณะสงฆ์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน” อันเป็นการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อย่างเป็นรูปธรรม