ความรู้เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ

   พระบรมสารีริกธาตุ เป็นธาตุพิเศษอันเกิดจากพระวรกายของพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาธิคุณ ภายหลังการเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นสิ่งมีคุณค่ายิ่งกว่าปูชนียวัตถุอื่นใดในโลกนี้ เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา

ความหมายและความสำคัญของพระบรมสารีริกธาตุ

   การใช้ศัพท์เรียกกระดูกหรือส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าที่ยังเหลือจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ จึงได้มีการบัญญัติศัพท์เรียกให้ชัดลงไปโดยเฉพาะว่า “พระบรมสารีริกธาตุ หมายถึง พระธาตุที่นับเนื่องหรือเป็นส่วนทางร่างกายหรือพระวรกายของพระองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับธาตุของพระอริยสาวก และมิได้หมายถึงพระธาตูเจดีย์ หรือธาตุสถูป”
   นอกจากนั้น ชาวพุทธยังถือคติว่า การสร้างพุทธเจดีย์ก็เพื่อบูชาพระพุทธคุณ จึงพยายามแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าแล้วสร้างสถูปหรือเจดีย์บรจุไว้เป็นที่สักการบูชา พระเจดีย์หรือพุทธเจดีย์ นิยมแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ตามหน้าที่ของการสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ หรือวัตถุที่ใช้บรรจุไว้ในพระเจดีย์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพานไปแล้ว โดยได้แบ่งประเภทแห่งพระเจดีย์ไว้ 4 ประเภท คือ
   1. ธาตุเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระธาตุของพระอรหันตสาวก เช่น ในประเทศไทยได้มีการสร้างพระเจดีย์สำคัญๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม พระธาตุดอยสุเทพ พระบรมบรรพต(ภูเขาทอง)
   2. บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น สังเวชนียสถาน 4 ตำบล และมีการเพิ่มเข้ามาอีกว่า สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฎิหาริย์ สถานที่บรรจุพระอังคาร สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ สถานที่บรรจุทะนานโลหิตที่ตวงพระธาตุ ตลอดจนนับการรับพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกในสถานที่ต่างๆ เป็นบริโภคเจดีย์อีกด้วย และยังนับเครื่องบริขารของพระพุทธเจ้า มีบาตร จีวร บริขารพิเศษ มีธัมมกรก เสนาสนะ เตียง ตั่ง กุฏิ วิหาร เป็นต้น
   3. ธรรมเจดีย์ ได้แก่ การจารึกข้อพระธรรมไว้บูชา ในชั้นเดิมมักเลือกเอาข้อพระธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เช่น คาถาแสดงพระอริยสัจ 4 มาจารึกไว้บูชา ต่อเมื่อภายหลังมีการจารึกพระธรรมลงเป็นตัวอักษรแล้ว ก็นับพระไตรปิฎกเป็นธรรมเจดีย์เช่นเดียวกัน
   4. อุเทสิกเจดีย์ ได้แก่ สิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย โดยไม่มีการกำหนดรูปแบบอย่างชัดเจน อยู่นอกเหนือจากพุทธเจดีย์อย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสามข้อข้างต้นเช่น พระพุทธรูป พระผง พระเครื่อง พระพุทธบาท(จำลอง) ฯลฯ ทั้งนี้ รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุจำลองด้วย แต่ชั้นเดิม ในอินเดียยังไม่มีคติการสร้างรูปเคารพ จึงทำเป็นเครื่องหมายแทนพระพุทธองค์ เป็นต้นว่า รูปม้าผูกเครื่องอานเปล่าแทนตอนเสด็จออกพระมหาภิเนษกรมณ์ รวมถึงประติมากรรมต่างๆ ที่สร้างด้วยถาวรวัตถุมีค่ามากบ้าง น้อยบ้าง เช่น ทำด้วยเงิน ทอง แก้วมณี ศิลา โลหะ ดิน และไม้ เป็นต้น
   พระบรมสารีริกธาตุจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อชาวพุทเป็นอย่างมาก แม้ในการประพฤติปฏิบัติตามประเพณีต่างๆ มักจะนำพระบรมสารีริกธาตุเป็นสื่อนำการบำเพ็ญประเพณี เช่น ประเพณีขึ้นพระธาตุ ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น แม้ในการพระบรมศพก็มีการนำพระบรมสารีริกธาตุไปร่วมสมโภชด้วย ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชการที่ 2 ตอนหนึ่งว่า
   “ถึง ณ วันเสาร์ เดือน 6 ขึ้น 5 ค่ำ เชิญพระบรมสารีริกธาตุแต่ในพระบรมมหาราชวังตั้งกระบวนแห่ออกไปยังพระเมรุมาศ ประดิษฐานพระเบญจาทอง พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรม เปรียญฝ่ายคามวาสี อรัญวาสี 80 รูป เจริญพระพุทธมนต์ มีหนัง จุดดอกไม้เพลิง เป็นการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุวันหนึ่งคืนหนึ่ง...เวลาบ่ายทิ้งทานเวลาค่ำ จึงแห่พระบรมสารีริกธาตุกลับเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง”

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์