Untitled Document

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)

     

      สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นบุคคลแรกที่นำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ (หรือแบบยุบหนอ-พองหนอ) จากพม่ามาเผยแพร่ในประเทศไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในสมัย 25 พุทธศตวรรษ เนื่องเพราะท่านดำรงตำแหน่งสำคัญทางการคณะสงฆ์ นั่นคือ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น นอกจากนั้นท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระอารามหลวงอันดับที่ 1 ในเมืองไทย ดำรงตำแหน่งสภานายกมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์อันดับที่ 1 ของเมืองไทย ที่สำคัญก็คือ ทรงสมณศักดิ์เป็นที่ "พระพิมลธรรม" ตำแหน่งรองสมเด็จพระราชาคณะ หรือที่เรียกกันว่า พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฎ ขอนำประวัติของท่านเป็นพิเศษ

ชาติกำเนิด
      สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า คำตา ดวงมาลา เป็นบุตรคนโตของนายพิมพ์ และนางแจ้ ดวงมาลา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 แรม 4 ค่ำเดือน 12 ณ บ้านโต้น ต.บ้านโต้น อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรนายพิมพ์ และ นางแจ้ ดวงมาลา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น 4 คนท่านเป็นบุตรคนโต น้องอีกสามคนคือ นางบี้ นายเพิ่ม และนางเชื้อ ตามลำดับ เมื่อย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุฯ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจ้าอาวาสขณะนั้น) ได้เปลี่ยนชื่อท่านจาก คำตา เป็น อาจ เพื่อให้เหมาะกับบุคลิก องอาจ แกล้วกล้า ของท่าน
     ได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระอาจารย์หนู และพระอาจารย์ใส ที่วัดศรีจันทร์ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านโต้น พ.ศ.๒๔๕๙ อายุ ๑๔ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดศรีจันทร์ พระอาจารย์หนูเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือธรรม แบบอักษรภาคอีสานซึ่งจารึกอยู่ในใบลาน จนมีความรู้ความสามารถพอที่จะสอนคนอื่นได้ อายุ ๑๖ ปี ได้สมัครเข้ารับการอบรมวิชาครูพิเศษ ๖ เดือน ที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยาคาร (ขอนแก่นวิทยายน) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น จนสามารถสอบไล่ได้วิชาครูเทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และได้บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนประชาบาลวัดกลาง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๓ ขณะมีอายุ ๑๘ ปี ได้ลาออกจากครูประชาบาล แล้วมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและวิชาการด้านอื่นๆ โดยการเดินทางด้วยเท้าจากขอนแก่นเป็นเวลาถึง ๙ วันจึงถึงจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นต้นทางรถไฟเข้ากรุงเทพฯในสมัยนั้น ร่วมกับคณะอีก ๔ รูป เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯแล้ว ปีแรกได้เข้าพำนักอยู่วัดชนะสงคราม และได้เข้าไปรับการศึกษาพระปริยัติธรรม ณ สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ ปีที่ ๒ จึงย้ายเข้ามาอยู่ในวัดมหาธาตุฯ

การบรรพชาอุปสมบท
     เมื่ออายุ 14 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น โดยมีอาจารย์พระหน่อ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านย้ายมาอยู่กรุงเทพฯเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
จนอายุครบ 20 ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีสมโพธิ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า อาสโภ

การศึกษา
ท่านได้ศึกษาอักษรลาวตั้งแต่บวชเป็นเณรที่ขอนแก่น

  • พ.ศ. 2461 สอบได้วิชาครู เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนขอนแก่นวิทยาคาร (ปัจจุบันคือโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน)
  • พ.ศ. 2464 สอบได้นักธรรมตรี สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
  • พ.ศ. 2465 สอบได้นักธรรมโท
  • พ.ศ. 2466 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
  • พ.ศ. 2467 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
  • พ.ศ. 2468 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค
  • พ.ศ. 2469 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
  • พ.ศ. 2471 สอบได้นักธรรมเอก และสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค
  • พ.ศ. 2472 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค

สมณศักดิ์

  • พ.ศ. 2477 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีสุธรรมมุนี
  • พ.ศ. 2482 เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม
  • พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
  • พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์
  • พ.ศ. 2492 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพิมลธรรม
  • พ.ศ. 2503 ถูกถอดจากสมณศักดิ์
  • พ.ศ. 2518 ได้รับสมณศักดิ์คืน
  • พ.ศ. 2528 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์

     ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศรีสุธรรมมุนี และเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม ชั้นหิรัญบัฏ ที่พระพิมลธรรม ได้รับสมณศักดิ์ ตำแหน่งอัครมหาบัณฑิต จากรัฐบาลพม่า และเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุฒาจารย์


งานการปกครองคณะสงฆ์

  • พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธนา
  • พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นสมาชิกสังฆสภา
  • พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๔
  • พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
  • พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ และสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
  • พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นสังฆปาโมกข์ ฝ่ายพระอภิธรรมปิฎก สังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับหลวง เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบนักษัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

งานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

    เป็นพระเถระผู้ใฝ่ในความเจริญงอกงามของพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติ ผลงานของพระเดชพระคุณได้ขจรกระจายไปทั่วโลก และได้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เช่นประเทศพม่า อินเดีย ศรีลังกา อังกฤษ และอเมริกา เป็นต้น อันเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ไปทั่วทุกมุมโลก
สมเด็จพระพุฒาจารย์ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๑.๑๕ นาฬิกา ณ โรงพยาบาลสยาม กรุงเทพมหานคร รวมอายุได้ ๘๖ ปี กับ ๑ เดือน

ประวัติและผลงานเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฎฐาน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

    หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) ได้ย้ายจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ไปอยู่ประจำ ณ วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ เพื่อช่วยปฏิบัติศาสนกิจด้านพระพุทธศาสนา ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๗๕ ในฐานะ พระมหาอาจ อาสโภ เปรียญธรรม ๘ ประโยค และได้ย้ายกลับคืนมาอยู่วัดมหาธาตุอีก ในฐานะตำแหน่งเจ้าอาวาส ที่พระธรรมไตรโลกจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑

วิปัสสนากรรมฐานแบบยุบหนอ-พองหนอ

     ในปี ๒๔๙๑ นั่นเอง หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ไปในงานกิจนิมนต์ในรัฐพิธีที่ท้องสนามหลวง วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๑ ฯพณฯ อูละหม่อง เอกอัครราชทูตสหภาพพม่าประจำประเทศไทยคนแรกได้ไปร่วมงานนั้นด้วย ภายหลังจากการประกอบศาสนพิธีเสร็จแล้ว หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ถือโอกาสสนทนากับ ฯพณฯอูละหม่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพระศาสนาทั้งในประเทศไทยและประเทศพม่า หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้สนทนาถึงสิ่งที่เป็นสาระ ๒ ประการ คือ
      ประการที่ ๑ หลวงพ่อสมเด็จฯ ให้ทรรศนะว่า พระภิกษุพม่าที่อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันมีแต่พระแก่ๆ หย่อนสมรรถภาพเข้ากับคนไทยไม่ได้สนิท ทำให้คนไทยเข้าใจไปว่า พระภิกษุในประเทศพม่าก็เหมือนกันนี้ ความจริงพระภิกษุพม่าที่อยู่ในประเทศพม่าที่มีความเชี่ยวชาญแตกฉานพระไตรปิฎกมีจำนวนมาก ควรจะจัดส่งพระประเภทนี้มาอยู่ประเทศไทยบ้าง หลวงพ่อสมเด็จฯ มีความยินดีที่จะสนับสนุนให้ได้โอกาสเผยแพร่พระพุทธศาสนาร่วมกัน
      ประการที่ ๒ พระไตรปิฎกภาษาบาลีพร้อมทั้งอรรถกถาและฎีกา ฉบับอักษรพม่าได้อ่านมาบริสุทธิ์ บริบูรณ์ดีมาก ใคร่ขอให้ทางประเทศพม่าได้ส่งมาให้ประเทศไทยบ้าง จะเป็นมหากุศลอย่างมาก
      ปี พ.ศ. 2495 พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ได้ส่งพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) ขณะเป็นพระมหาโชดกไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานสายของมหาสีสย่าด่อที่สำนักศาสนยิสสา ประเทศพม่า เป็นเวลา 1 ปี แล้วนำกลับมาสอน พร้อมทั้งพระพม่าสองรูป คือพระภัททันตะ อาสภเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ และพระอินทวังสเถระ กัมมัฏฐานาจริยะ โดยเปิดสอนครั้งแรกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี พ.ศ. 2496 จากนั้นจึงขยายไปเปิดสอนที่สาขาอื่นทั่วราชอาณาจักร มีการตั้งกองการวิปัสสนาธุระที่วัดมหาธาตุฯ ต่อมาถูกยกสถานะเป็นสถาบันวิปัสสนาธุระ สังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และได้เผยแพร่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบยุบหนอ-พองหนอจนแพร่หลายดังปัจจุบัน
      ด้วยเหตุที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้สนิทสนมกับ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตครั้งนั้น เป็นปัจจัยต่อมา คือเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ สภาการพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า ได้จัดส่งพระภิกษุระดับบัณฑิต ขั้นธรรมาจริยะ มายังประเทศไทยตามคำแนะนำของหลวงพ่อสมเด็จฯ ๒ รูป คือท่านสัทธัมมโชติกะ ธรรมาจริยะ ๑ ท่านเตชินทะ ธรรมาจริยะ ธัมมกถิกะ ๑ ครั้งแรกเมื่อยังไม่รู้ภาษาไทย ได้จัดให้พักอยู่ที่วัดปรกพม่า ต่อมาได้จัดให้ท่านสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ไปตั้งสำนักสอนพระอภิธรรมปิฎกอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และทำการสอนประจำจนเป็นหลักฐานอยู่ ณ วัดระฆังนั้น จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ ส่วนท่านเตชินทะ ธัมมกถิกะ ได้จัดให้มาสอนอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์จนกระทั่งคืนสู่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔
      ถึงแม้ว่าท่านพระอาจารย์สอนพระอภิธรรมปิฎก ได้ถึงมรณภาพและกลับคืนสู่ประเทศของตนแล้ว แต่ก็ได้ฝังรากฐานวิชาความรู้พระอภิธรรมปิฎกไว้อย่างดีเป็นระเบียบเป็นหลักฐาน คือเขียนและแปลเป็นหลักสูตรไว้ จนได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันสำนักใหญ่ส่วนกลางตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษฎิ์ มีสำนักสาขาอยู่ทั่วไปทั้งภายในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดประมาณ ๗๐ สำนักเรียน
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ สภาการศึกษาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า ได้ส่งสมณทูตทั้งอัญเชิญพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรพม่าพร้อมอรรถกถาและฎีกา ตามที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ขอไว้ มายังประเทศไทย โดยมีท่านยานิกเถร เจ้าอาวาสวัดอัมพวนารามพระนครย่างกุ้ง เป็นหัวหน้า มีมหาเศรษฐีเซอรอูต่วนเป็นไวยาวัจกร ได้ถวายพระไตรปิฎกอักษรพม่าแก่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ๑ ชุด ถวายแก่มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ ชุด ถวายแก่สำนักเรียนพระอภิธรรมปิฎกวัดระฆังโฆสิตาราม จำนวน ๑ ชุด
      เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ ทางการคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย ได้จัดส่งพระสมณทูต พร้อมทั้งพระไตรปิฎกฉบับอักษรไทย ไปเยี่ยมตอบและมอบให้แก่ประเทศพม่า โดยมีเจ้าคุณพระศาสนโสภณ อุฏฐายีเถร เป็นหัวหน้า เจ้าคุณพระพิมลธรรม อาสภเถร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นรองหัวหน้า เจ้าคุณพระศรีวิสุทธิญาณ วัดกันมาตุยาราม เป็นคณะปูรกะ และมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นไวยาวัจกร
     เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ส่งพระเปรียญวัดมหาธาตุ ไปดูการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระที่ประเทศพม่า โดยนำไปฝากด้วยตนเอง ๓ รูป คือ ๑. พระมหาโชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙ เรียนฝ่ายวิปัสสนาธุระ ๒. พระมหาบเพ็ญ ป.ธ.๕ และ ๓. สามเณรไสว ป.ธ.๕ เรียนฝ่ายคันถธุระ โดยให้พระมหาโชดก อยู่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานศาสนายิสสา ภายใต้การปกครองของท่านมหาสีสยาดอ โสภณเถร พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระมหาบำเพ็ญและสามเณรไสว อยู่วัดอัมพวนาราม ภายใต้การปกครองของท่านยานิกเถร เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นประธานเชิญพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่ามามอบให้ประเทศไทย

      พระมหาโชดก ญานสิทธิ ได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่เป็นเวลา ๑ ปี แล้วกลับคืนสู่ประเทศไทย พ.ศ.๒๔๙๖ ในขณะเดียวกัน หลวงพ่อสมเด็จได้แสดงความจำนงไปยังสภาการพุทธศาสนาสหภาพพม่า ขอให้จัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศไทย ๒ รูป พร้อมกับการคืนสู่ประเทศไทยของพระมหาโชดก ญาณสิทธิ สภาการพุทธศาสนามีความเห็นอกเห็นใจและเชื่อถือหลวงพ่อสมเด็จฯ สนิทชิดชอบอย่างมาก ดังนั้น จึงจัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศไทย ๒ รูป คือ ๑.ท่านอาสภเถร ปธานกัมมัฎฐานาจริยะ ๒. ท่านอินทวังสะ ธัมมาจริยะ กัมมัฏฐานาจริยะ ทั้งสองรูปจัดให้พำนักอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ช่วยเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานร่วมกับพระมหาโชดก ป.ธ.๙ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นต้นมา นับว่าได้เป็นกำลังเสริมสร้างพระปฏิบัติศาสนาให้เจริญขึ้นในประเทศไทย และยังดำรงคงอยู่ในปัจจุบันนี้

กลอนลำประวัติ - เทศน์แหล่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)
คลิกเลือกรายการ:


ปูมบันทึกพระพิมลธรรม

    พระพิมลธรรม ตอนที่ 1
      พระพิมลธรรม เป็นพระนักพัฒนา การฟื้นฟูเผยแผ่พระพุทธศาสนาหัวก้าวหน้าในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์งานที่พระพิมลธรรมได้บุกเบิกไว้ เป็นงานที่ท้าทายความคิดและความรู้สึกผู้คนในสมัยนั้นไม่น้อย ท่านจึงต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ความริษยาและการคุกคามของผู้มีอำนาจในยุคนั้นโดยเฉพาะวัง ที่ต้องการใช้พระศาสนาและพระสงฆ์เป็นเครื่องมือรับใช้ลัทธิเทิดทูนบูชาพระมหากษัตริย์อย่างไม่ลืมหูลืมตา
      พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) นามเดิมว่า อาจ ดวงมาลาเกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2446 ณ ตำบลบ้านโต้น อำเภอเมือง ขอนแก่นบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 14 ปี เมื่ออายุ 18 ปี ได้ย้ายเข้ามาศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาในกรุงเทพฯ ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดมหาธาตุฯ โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี) เป็นพระอุปัชฌาย์ฉายาว่า อาสโภ สอบได้เป็นเปรียญธรรม 8 ประโยคเป็นครูสอนประจำสำนักวัดมหาธาตุฯ 7 ปี (2467 - 2475)
ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม อยุธยา เพื่อฟื้นฟูการงานพระพุทธศาสนาภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยุธยาถึง 16 ปี (2475-2491)ท่านได้สร้างผลงานไว้ไม่น้อย และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา เจ้าคณะตรวจการภาคแม่กองธรรมสนามหลวง เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศรีสุธรรมมุนีพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ปี 2491เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วรมหาวิหาร เยื้องสนามหลวง
พระราชาคณะชั้นเจ้ารองสมเด็จที่ พระพิมลธรรม ในปี 2492และยังเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง(หรือรัฐมนตรีมหาดไทยของพระสงฆ์ไทย) ถึง 4 สมัย
      ความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพระพิมลธรรม สืบเนื่องมาจากงานที่ท่านได้บุกเบิก
ไว้ในยุคนั้น สามด้าน คือ
      1.การขอพระอาจารย์ชั้นธัมมาจริยะ จากประเทศพม่ามาช่วยสอนพระอภิธรรมปิฎกในเมืองไทย ในปี 2491 พระพิมลธรรมได้เคยปรึกษากับเอกอัครราชฑูตพม่า เพื่อขอให้ทางพม่าช่วยจัดส่งพระภิกษุ ชั้นธัมมาจริยะที่เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎกมายังประเทศไทยพร้อมทั้งให้จัดส่งพระไตรปิฎกภาษาบาลี อรรถกา และฎีกาฉบับอักษรพม่ามาให้ด้วยเพราะจะเป็นประโยชน์ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกันเป็นอย่างมาก
      ปี 2492 สภาการพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่าจึงได้จัดส่งพระภิกษุระดับบัณฑิตชั้นธัมมาจริยะ มายังประเทศไทย 2 รูป ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้ช่วยวางรากฐานความรู้พระอภิธรรมปิฎก เป็นหลักสูตรให้ได้ใช้ศึกษาสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
      ในปี 2493 ทางพม่าได้จัดส่งสมณฑูต พร้อมพระไตรปิฎกอีก 3 ชุด ในปี 2494คณะสงฆ์แห่งประเทศไทย จัดส่งพระสมณฑูตพร้อมทั้งพระไตรปิฎกฉบับอักษรไทยไปเยี่ยมตอบและมอบให้พม่า
       ปี 2496 พระพิมลธรรมได้ขอให้สภาการพุทธศาสนาสหภาพพม่าจัดส่งพระเถระฝ่ายวิปัสสนาจารย์ ให้มาสอนวิปัสสนาในเมืองไทย 2 รูปคือ ท่านอูอาสภะ และท่านอูอินทวังสะ ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้เป็นกำลังเสริมสร้างการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานให้เจริญขึ้นในไทย โดยเริ่มเปิดสอนที่วัดมหาธาตุ
เป็นแห่งแรก และได้ดำเนินสืบเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
แม้งานเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างมาก แต่ยังมีคนไทยและพระภิกษุอีกไม่น้อยที่ยังมีอคติต่อพม่าจึงมีฆราวาสและพระเถระหลายรูปที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่กล้าออกมาต่อต้านขัดขวางโดยตรงในตอนนั้น
      2.ส่งพระภิกษุนักเรียนพุทธศาสนบัณฑิตไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ดังที่ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นงานใหม่ที่ผู้บริหารคณะสงฆ์ไทยไม่เคยคิดมาก่อนและมองไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไร แต่พระพิมลธรรมยืนยันในเจตนาเดิมต่อคณะสังฆมนตรี เพราะเห็นว่าจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อศาสนาและได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกในประเทศต่าง ๆ




พระพิมลธรรม ตอนที่ 2
      เมื่อพระพิมลธรรมซึ่งเป็นสังฆมนตรี ได้แสดงเจตจำนง และแจ้งเรื่องจะเดินทางไปส่งพระภิกษุสามเณรที่ไปศึกษาวิชาพระพุทธศาสนายังประเทศพม่าอธิบดีกรมการศาสนา (นายบุญช่วย สมพงศ์) กับท่านสังมนตรีในสมัยนั้นต่างพากันคัดค้านโดยอ้างเหตุผลหลายประการ เช่น ประเทศพม่าเพิ่งหลุดจากความเป็นทาสของอังกฤษมาไม่นาน (เมื่อ 4 มกราคม 2491)ส่วนประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์มีอิสรภาพมายาวนานแสดงว่าสถาบันของพม่าย่อมต่ำกว่าของไทย จึงไม่ควรไปศึกษาในประเทศที่ต่ำ
กว่าและพระพุทธศาสนาของไทย มีค่าสูงกว่าพระพุทธศาสนาของประเทศใดในโลก ไม่มีชาติใดสู้ได้ การนำนักศึกษาของเราไปศึกษาพระพุทธศาสนาของเขาจึงไม่เป็นการสมควร แต่ควรให้คนอื่นมาศึกษาในประเทศของเราจึงจะถูกข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การที่ท่านเจ้าคุณสังฆมนตรีนำพระภิกษุไปศึกษาในประเทศพม่าคราวนี้ จะเป็นการเสียสถาบันของประเทศ
      พระพิมลธรรมปรารภแต่เพียงว่า การเดินทางในครั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้เตรียมการทุกอย่างพร้อมทั้งติดต่อเป็นการส่วนตัวกับผู้รู้จักในประเทศพม่า
โดยการช่วยเหลือของอุปฑูตพม่าไว้พร้อมแล้ว และท่านได้ยืนยันว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของตำแหน่งและราชการแต่อย่างใด
      ครั้นเมื่อพระพิมลธรรมได้นำพระภิกษุที่จะเดินทางไปศึกษาต่อไปกราบลาท่านสังฆนายกในสมัยนั้น คือ สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)วัดเบญจมบพิตร นามเดิม ปลด เกตุทัต ) เพื่อรับโอวาทและอนุโมทนาแต่แทนที่ท่านสังฆนายกจะให้โอวาทอันไพเราะท่านกลับแสดงข้อขัดแย้งที่ท่านมีอยู่ออกมาให้พระหนุ่มที่จะเดินทางไปศึกษาต่อได้ฟังว่า ท่านพิมลธรรมเอ๋ย ท่านจะเอาดีไปถึงไหน การพระศาสนาในเมืองไทยเราดีที่สุดอยู่แล้ว
      แต่การที่พระพิมลธรรมนำพระภิกษุไปศึกษาต่อยังประเทศพม่าก็ประสบความสำเร็จ และได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่และรัฐบาลพม่าเป็นอย่างดี และในกาลต่อมา ท่านยังได้ขยายขอบเขตในการส่งพระภิกษุไปศึกษาต่อไปยังประเทศอินเดีย ที่สถาบันนวนาลันทา( หรือนาลันทาใหม่ - New Nalanda )ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรำลึกถึงมหาวิทยาลัยนาลันทาเดิมที่ยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในอดีต และประเทศศรีลังกาที่สถาบันธรรมฑูตวิทยาลัย เป็นต้น
      นับเป็นการทำงานที่ท้าทายความคิดของสงฆ์และฆราวาสในยุคนั้นเป็นอย่างมากอย่างไรก็ดี การส่งภิกษุไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ที่พระพิมลธรรมได้วางรากฐานไว้ในสมัยนั้น ก็ยังคงดำเนินการสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ทั้งยังได้ขยายขอบเขตออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรปและอเมริกาอีกด้วย
      3.การฟื้นฟูวิปัสสนาธุระ คือการตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นที่วัดมหาธาตุฯเป็นแห่งแรก แล้วขยายให้กว้างขวางมากขึ้นโดยลำดับไปสู่อำเภอและจังหวัดต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศตั้งแต่ครั้งที่พระพิมลธรรมได้ส่งพระภิกษุไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมาเสริมสร้างงานด้านพุทธศาสนาในประเทศไทยรวมทั้งการเชิญพระพม่ามาช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งด้านคันถธุระ (การศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งการเทศนาสั่งสอน การสร้างวัดวาอาราม )และวิปัสสนาธุระ (การปฏิบัติจิตใจให้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหา) ร่วมกันนั้นได้ช่วยให้งานศาสนาในประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก
      เกิดการตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดมหาธาตุฯ เป็นแห่งแรก นับตั้งแต่ปี 2496เป็นต้นมา มีพระเถรานุเถระและคณะอุบาสก - อุบาสิกาสมัครเข้าปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก จนเต็มพระวิหารหลวงและระเบียงพระอุโบสถทั้ง 4 ด้านและในปีต่อมาก็สร้างพระเถระวิปัสสนาจารย์ออกมาไม่น้อย
ซึ่งได้ออกไปช่วยขยายงานพระศาสนาด้านวิปัสสนาธุระให้กว้างขวางโดยตั้งสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
ในสมัยที่ประเทศพม่าตกลงจะประชุม ทำสังฉัฏฐคายนาพระไตรปิฎก(สังคายนาครั้งที่ 6) ที่กรุงย่างกุ้งนั้น ทางการพม่าได้อาราธนามายังคณะสงฆ์ไทยขอให้ส่งพระสงฆ์ไปร่วมทำสังคายนา แต่ที่ประชุมคณะสังฆมนตรีไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าพม่าเพิ่งจะได้เอกราชใหม่ ๆ การคิดจะทำสังคายนาเป็นการคิดใหญ่เกินตัว บางท่านเห็นว่าควรส่งไปร่วมสังเกตการณ์เพียงอย่างเดียวไม่ควรไปร่วมประชุม
ลงมติ

พระพิมลธรรม ตอนที่ 3
      มีเพียงพระพิมลธรรมรูปเดียว เห็นว่าควรส่งพระคณะสังคีติการกะไทย(พระที่เข้าร่วมทำพิธีสังคายนา) ไปร่วมประชุมลงมติด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ไม่ควรนำอคติทางชนชาติและการปกครองเข้ามาข้องเกี่ยวพม่าได้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลไทย
      เมื่อรัฐบาลมีมติให้คณะสงฆ์ไทยจัดส่งพระไปร่วม พระพิมลธรรมจึงต้องรับหน้าที่เป็นประธานนำคณะพระสงฆ์ไทย ไปร่วมประชุมยังประเทศพม่ามีท่านพุทธทาสภิกษุร่วมเดินทางไปด้วย ท่านเป็นเพียงรูปเดียวในคณะสังฆมนตรีที่เห็นว่าควรส่งพระไทยไปร่วมประชุมสังคายนาดังกล่าวพระเถระสังฆมนตรีจึงยกให้งานนี้ เป็นภาระของท่านแต่เพียงผู้เดียวในการไปร่วมร่วมประชุมกระทำฉัฏฐสังคายนา(ครั้งที่6)ทำให้ท่านเป็นพระไทยรูปแรกที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพม่าในปี 2497ให้เป็น อัครมหาบัณฑิต พร้อมสังฆนายกแห่งกัมพูชา และได้เดินทางไปร่วมประชุมกระทำฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศพม่าอีก 12 ครั้ง จนกระทั่งแล้วเสร็จและทำการฉลองเมื่อปี 2500 พอดี
      ในปี 2501 พระพิมลธรรมเป็นพระภิกษุไทยรูปแรกที่ได้รับนิมนต์จาก ดร.แฟรงค์บุชแมน Frank N D Buchman ผู้ก่อตั้งและประธานขบวนการส่งเสริมศีลธรรมหรือ เอ็ม.อาร์.เอ.เพื่อไปร่วมงานฉลองอายุ 80 ปีของดร.แฟรงค์บุชแมน และครบรอบ 10 ปี ของเอ็ม.อาร์.เอ. ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พระพิมลธรรมพร้อมด้วยคณะยังได้เดินทางไปประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรัฐต่างๆของสหรัฐ และกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในยุโรปร่วมกับองค์กร เอ็ม.อาร์.เอ. อีกด้วย ท่านเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรก ที่ได้เดินทางไปประกาศพุทธธรรมยังประเทศเหล่านั้นและเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้เข้าพบพระสันตะปาปา ประมุขศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ณ กรุงวาติกัน เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีและหาทางแลกเปลี่ยนศาสนฑูตระหว่างศาสนาพระพิมลธรรมได้รับนิมนต์จากเอ็ม.อาร์. เอ. เกือบทุกปีให้ไปร่วมเผยแผ่ศีลธรรมในประเทศต่างๆด้วยกัน โดยไม่ยึดถือศาสนาของใครว่าสำคัญ ท่านเห็นว่าเหมือนไปเผยแผ่ธรรมในพุทธศาสนานั่นเอง
      งานเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่บางท่านไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะพระมหาเถระระดับสังฆนายก สมเด็จพระวันรัต(ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) และสังฆมนตรีบางท่าน เพราะท่านเหล่านั้นไม่เข้าใจและมองไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาในทางใดแต่ไม่กล้าขัดขวางโดยตรง ได้แต่แสดงความเห็นคัดค้านด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา ก่อให้เกิดเป็นแรงกดดันและความขัดแย้งที่ค่อย ๆ สะสมเพิ่มมากขึ้นภายในสังฆสมาคมชั้นสูง
      สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงคือ ความอิจฉาริษยาในชื่อเสียงเกียรติคุณของพระพิมลธรรม ที่เฟื่องฟูมากในยุคนั้น เนื่องจากงานบุกเบิกใหม่ ๆที่พระพิมลธรรมได้มุ่งมั่นทำขึ้นเหล่านี้ยังผลให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านขจรขจายไปไกลยังนานาประเทศ ได้รับความเชื่อถือจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า และกัมพูชา และได้รับเชิญเป็นสงฆ์รูปแรกให้เดินทางไปร่วมงานกับองค์กรทางศีลธรรมและศาสนาระดับนานาชาติ
      พระพิมลธรรม ยังได้ทำงานที่ท้าทายความรู้สึกของผู้มีอำนาจยุคนั้นและมหาเถระสมาคมอีกไม่น้อย เช่น การไม่ออกกฎห้ามคอมมิวนิสต์บวชในพระพุทธศาสนา ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีองค์การปกครองรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกัน
การเป็นคอมมิวนิสต์ 2493 โดยรัฐบาลได้ใช้กลไกทุกชนิดประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงอันตราย และความร้ายกาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์
      รัฐบาลได้มีหนังสือกราบเรียนสังฆนายกในสมัยนั้น คือสมเด็จพระวันรัต(ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) เพื่อขอให้ทางคณะสงฆ์ออกกฎห้ามรับคอมมิวนิสต์บวชในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านสังฆนายกนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะสังฆมนตรีปรากฏว่าสังฆมนตรีหลายรูปเห็นชอบด้วยและมีมติมอบให้พระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถร) สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองรับไปดำเนินการให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐบาลแต่วันนั้นพระพิมลธรรมมิได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้ท่านตกอยู่ในฐานะลำบากต่อการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าจะเป็นผลเสียแก่พุทธศาสนามากกว่าผลดีแต่หากปฏิเสธก็เท่ากับเป็นการขัดนโยบายของรัฐบาล

พระพิมลธรรม ตอนที่ 4
      เมื่อยังหาทางออกไม่ได้ท่านจึงต้องเก็บเรื่องนี้ไว้ก่อนรัฐบาลก็ยังคงติดตามเรื่องและทวงถามอยู่เสมอ ท่านสังฆนายกและคณะสังมนตรีอีกหลายรูปต่างร้อนใจ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆเป็นต้นว่าพระพิมลธรรมหัวดื้อบ้าง อวดดีบ้าง เป็นคอมมิวนิสต์บ้างจนมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไปขอสัมภาษณ์พระพิมลธรรมว่าการที่ท่านไม่ยอมออกกฎห้ามคอมมิวนิสต์บวชนั้นหมายความว่าท่านไม่กลัวคอมมิวนิสต์ใช่หรือไม่ ท่านก็ตอบว่า ท่านไม่กลัวเพราะท่านเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งจึงไม่กลัว
      เมื่อข่าวถูกตีพิมพ์ออกไป ทำให้รัฐบาลร้อนใจ ต้องให้ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้นไปพบพระพิมลธรรมด้วยตนเอง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงว่าท่านมีเหตุผลอย่างไรต่อเรื่องนี้ พระพิมลธรรมจึงได้ชี้แจงว่า ที่ท่านไม่กลัวคอมมิวนิสต์นั้น
เพราะเชื่อมั่นว่าถ้าเราชาวพุทธเคารพสักการะพระรัตนตรัย ยึดพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจศาสนา ปฏิบัติตามคำสอนอย่างจริงจังแล้วจะไม่มีสิ่งใดมาทำลายสถาบันที่เราเคารพได้เลย ปัญหาเฉพาะหน้าจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรคนจึงจะรู้และปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องและจริงจังเมื่อแก้ปัญหานี้ได้ ความหวาดกลัวภัยพิบัติต่าง ๆ ก็จะหมดไปและหากเราสามารถสอนพวกคอมมิวนิสต์ให้รู้ธรรมะ ให้เลื่อมใสในศาสนาได้ก็จะเป็นการดี เป็นบุญกุศลด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงไม่กลัวคอมมิวนิสต์และอยากเทศน์ให้คอมมิวนิสต์ฟังด้วย
      เมื่อเหตุผลเป็นเช่นนี้ พล.ต.อ. เผ่า จึงกล่าวว่าเห็นด้วยกับท่านและนำความไปกราบเรียนให้ท่านนายกทราบ เมื่อจอมพล ป. ได้รับทราบแล้วทางรัฐบาลก็ไม่ได้มีการขัดขวางในเรื่องนี้อีก
      การที่พระพิมลธรรมได้ทุ่มเทสติปัญญา แรงกาย แรงใจ ในการพัฒนางานด้านพระพุทธศาสนาจนประสบความสำเร็จดังที่ปรากฏอยู่ กลับกลายเป็นเหตุให้เกิดความไม่เข้าใจกันกับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่บางท่านอันเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง การใส่ร้ายป้ายสี และการคุกคามพระพิมลธรรม
ถึงกับทำให้ท่านต้องถูกปลดออกจากสมณศักดิ์โดยเฉพาะการริเริ่มตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้นในวัดมหาธาตุได้กลายเป็นข้ออ้างใช้กล่าวหาท่าน ว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์มีการซ่องสุมกำลัง เพื่อบ่อนทำลายประเทศชาติ เป็นเหตุให้ท่านถูกจับกุมตัวไปคุมขังไว้ ณ กรมตำรวจเป็นเวลาถึง 5 ปี ก่อนหน้านั้นมีข่าวลือให้ร้ายท่านจากฆราวาสและพระเถระบางรูปที่มีความเห็นขัดแย้งกับท่านมีเสียงเรียกร้องให้ปลดท่าน หรือให้ท่านลาออกจากตำแหน่ง
     กระทั่งท่านได้รับลิขิตจากสมเด็จสังฆนายกสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร(บุตรของขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ)มหาดเล็กใกล้ชิดรัชกาลที่ 5)ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2502 ตำหนิการทำงานของท่านอย่างรุนแรงทั้งยังแนะนำให้ท่านลาออกจากคณะสังฆมนตรีเสีย ความว่า.....

พระพิมลธรรม ตอนที่ 5
     สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) ส่งหนังสือ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2502 ตำหนิการทำงานของท่านอย่างรุนแรง ทั้งยังแนะนำให้ท่านลาออกจากคณะสังฆมนตรีเสีย ความว่า......
เรียน เจ้าคุณพระพิมลธรรม
เวลานี้ ผมมีความอึดอัดใจในปฏิปทาของเจ้าคุณเป็นอย่างยิ่ง
     1. ในการที่เจ้าคุณทำสำนักกัมมัฏฐานให้งอกงามขึ้น ในด้านวัตถุวัดมหาธาตุก็สกปรกรกรุงรังไม่มีระเบียบ วิหารคต พระระเบียงซึ่งสมเด็จพระอุปัชฌายะของเจ้าคุณทำไว้ สะอาดงดงามเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ก็กั้นห้องรุงรังไปหมด ไม่ใช่แต่ภิกษุสามเณรเท่านั้นที่เข้าไปอยู่ในวงวิหารคต แม้อุบาสิกาก็เข้าไปอยู่ในวงนั้น เวลาอาบน้ำก็แลเห็นกันเป็นวิสภาครมณ์ที่น่ารังเกียจที่สุด แม้คฤหัสถ์สำนักวัดมหาธาตุที่เขาหวังดีตักเตือนเจ้าคุณก็ไม่นำพาแก้ไข แม้เรื่องอันไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นก็กลบไว้
แถวนอกโพธิ์ลังกาก็มีกะต๊อบรุงรังไปหมด พื้นวัด รางน้ำของถนนสกปรกใครเตือนก็ว่าเรื่องเล็ก ทำ 2-3 วันก็แล้ว แล้วก็ไม่ทำ เดี๋ยวนี้แถบในพระอุโบสถหลังพระประธาน ก็กั้นห้องให้พระอยู่
     2. นี่หรือวัดท่านสังฆมนตรีปกครอง ไม่เห็นเป็นแบบอย่างอะไรได้เจ้าคุณต้องการแต่ปริมาณมาก หาได้คำนึงถึงคุณภาพไม่ ในด้านกิจวัตรอันเนื่องด้วยพระวินัย การทำวัตรสวดมนต์ ที่สมเด็จพระอุปัชฌายะของเจ้าคุณกวดขัน เวลานี้เป็นอย่างไร พระลงอุโบสถขาดตั้งครึ่งวัด
     3. เจ้าคุณก็เห็นไม่สำคัญ ช่างไม่รักษามรดกของอุปัชฌายะ มีทิฏฐิวิปลาสไปหรือมีคฤหัสถ์ชั้นสูงชั้นอิสรชนบางท่านพูดว่า วัดมหาธาตุเดี๋ยวนี้เป็นบ้านธาตุอย่างที่ผมเคยได้ยินมาแต่ก่อน ไม่รู้ว่าพระ ว่าผู้หญิงมีส่วนสัดกันอยู่อย่างไร
     4. เรื่องจังหวัดอยุธยา พระเขาก็ไม่พอใจเจ้าคุณปกครองมากนักหรอกเจ้าคุณถามเขาต่อหน้า เขาเกรงสังฆมนตรีปกครอง เจ้าคณะจังหวัดเขาก็ตอบไปอย่างนั้น เจ้าคุณก็หลงตน วิธีการปกครองเจ้าคุณโดยมากก็นิ่งแช่เย็นกลบไว้*
อาศัยเหตุการณ์ตามที่ประมวลมาพอสมควร ผมจึงมีความอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่งทั้งคณะสังฆมนตรีฝ่ายเราก็อึดอัดใจไปตามกัน ฉะนั้น ถ้าเจ้าคุณหลีกทางลาออกจากคณะสังฆมนตรีเสีย ก็จะเป็นการเบาใจของเป็นอันมาก ทั้งป้องกันความเสื่อมศักดิ์ศรีของคณะสังฆมนตรีไว้ด้วย เพราะเวลานี้ คณะสังฆมนตรีถูกวิพากวิจารณ์จากหมู่ชนเป็นอันมาก เพราะเหตุแห่งเจ้าคุณงานอื่นที่เจ้าคุณจะพึงกระทำก็ยังมีอีกมาก เช่น จัดวัดมหาธาตุให้แจ่มใสปรับปรุงมหาวิทยาลัยให้เรียบร้อยรุ่งเรืองเจริญ ก็จะเป็นเกียรติแก่เจ้าคุณต่อไป

สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภโณ)
สังฆนายก

หมายเหตุ
     1. วิหารคด หรือระเบียงคดที่นิยมสร้างรอบพระอารามหลวงทั้งสี่ด้านนั้นในวัดมหาธาตุไม่มีมานานแล้ว สมเด็จพระวันรัตคงพูดเพ้อเจ้อไปเองและท่านไม่เคยกั้นห้องในพระอุโบสถให้พระอยู่ กั้นแต่ในพระวิหาร เพราะว่าอยู่ว่างๆ
     2.ที่กล่าวหาพระพิมลธรรมเน้นแต่ปริมาณคน โดยไม่เข้มงวดเรื่องพระวินัยก็เป็นเรื่องไม่จริง
     3.เรื่องที่ว่าพระและผู้หญิงอยู่ปนกัน ก็ไม่เป็นความจริง
     แต่หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวครึกโครม รัฐมนตรีก็ร้อนใจ บันทึกถามแต่สังฆนายกไม่ตอบชี้แจงพอไปขอให้ให้สังฆมนตรีชี้แจงก็นิ่งเฉยอ้างว่าเป็นเรื่องทัศนะไม่ตรงกัน จะทำอะไรได้ตอนที่พระพิมลธรรมเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองนั้นสมเด็จสังฆนายกท่านดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่งท่านมักมีความเห็นอยู่ว่า สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองนั้นมีอำนาจมีอภินิหารมาก ท่านมีความใคร่จะดำรงตำแหน่งนี้มานานแล้ว
     ท่านเคยขอแลกเปลี่ยนกับพระพิมลธรรม แต่พระพิมลธรรมกราบเรียนท่านโดยว่าตนไม่ถนัดในการศึกษาเท่าสมเด็จพระสังฆนายก ดังนี้เสมอมาทุกครั้งพระพิมลธรรมได้ตัดสินใจไปพบสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณ) สังฆนายกเพื่อเรียนชี้แจงนานถึง 4 ชั่วโมงแต่กลับเพิ่มความไม่พอใจและไม่เข้าใจกันมากขึ้น ดังคำพูดของสมเด็จพระวันรัตที่กล่าวกับพระพิมลธรรม หลังจากที่คุยกันมานาน 4 ชั่วโมงว่า" ท่านพิมลธรรมนี่ คุยกันตั้งแต่ ก-ฮ หาช่องลงกันไม่ได้สักตัวเลย "


พระพิมลธรรม ตอนที่ 6
     เมื่อเป็นเช่นนี้พระพิมลธรรมจึงต้องยึดอุเบกขาธรรมเป็นที่ตั้งด้วยการวางเฉยต่อเสียงติฉินนินทาทั้งปวง ท่านยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์พัฒนางานด้านศาสนาต่อไป โดยไม่สนใจหรือหวั่นไหว ต่อคำคัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ด้วยเชื่อว่างานเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยในอนาคต
     5 พฤษภาคม 2503 สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)ซึ่งไม่ชอบพระพิมลธรรมได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ฝ่ายวังที่มีหม่อมหลวงปิ่นและกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเป็นตัวแทน ให้พระสังฆราชแช่แข็งหรือเอาพระพิมลธรรมออกจากสังฆมนตรีและยกเลิกกฎหมายสงฆ์ปี 2484และนำฉบับปี 2445 สมัยรัชกาลที่ 5 ของฝ่ายเจ้ากลับมาใช้
    สมเด็จพระวันรัตก็ทำตามข้อตกลง โดยเสนอชื่อพระธรรมยุติสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จวน อุฏฐายี วัดมกุฏกษัตริย์ เป็นสังฆนายกซึ่งได้เสนอชื่อคณะสังฆมนตรีชุดใหม่ 9 รูปต่อสมเด็จพระสังฆราชฯ คือ(โบราณว่า ยศช้าง ขุนนางพระ)
    1. พระธรรมรัตนากร วัดสังเวชวิศยาราม เป็นสังฆมนตรีปกครอง
    2. พระธรรมวราภรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสังฆมนตรีช่วยปกครอง
    3. พระธรรมคุณาภรณ์ วัดสามพระยา เป็นสังฆมนตรีศึกษา
    4. พระธรรมปาโมกข์ วัดราชผาติการาม เป็นสังฆมนตรีช่วยศึกษา
    5. พระธรรมวโรดม วัดพระเชตุพน เป็นสังฆมนตรีเผยแผ่
    6. พระธรรมจินดาภรณ์ วัดราชบพิธ เป็นสังฆมนตรีช่วยเผยแผ่
    7. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดราชบพิธ เป็นสังฆมนตรีว่าการสาธารณูปการ
    8.พระธรรมทัศนาธร วัดชนะสงคราม เป็นสังฆมนตรีช่วยสาธารณูปการ
    9. พระธรรมมหาวีรานุวัตร วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นสังมนตรีลอย
    โดยไม่มีชื่อของพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ทั้งที่ท่านมีผลงานและเกียรติคุณมากมาย อายุก็ยังไม่มาก พร้อมที่จะบริหารงานต่อไปได้อีกหลายปี(ขณะนั้นท่านมีอายุ 57 ปี) ทำให้พระพิมลธรรม พ้นออกจากตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
    เมื่อท่านไม่ได้ดำรงตำแหน่งในคณะสังฆมนตรีแล้ว เหตุการณ์ก็น่าจะยุติลงเพียงเท่านั้น แต่เป้าหมายแท้จริงของผู้มีอำนาจในคณะสงฆ์ต้องการกำจัดพระพิมลธรรมออกไปจากวงการสงฆ์ ดังที่เคยมีพระที่เคารพนับถือพระพิมลธรรม ได้มากราบเรียนท่านว่า พระสังฆราช ปลด กิตติโสภณได้ตั้งพระทัยและปรารภว่า จะทำพระพิมลธรรมให้เป็นพระมหาอาจและจะทำพระมหาอาจให้เป็นนายอาจในที่สุดแม้จะได้รับทราบความข้อนี้แล้ว แต่พระพิมลธรรมท่านกลับรู้สึกเฉย ๆท่านไม่สนใจที่จะป้องกันตัว หรือระวังอะไรเป็นพิเศษ ยังคงมุ่งหน้าปฏิบัติภารกิจที่มีอยู่ต่อไป

พระพิมลธรรม ตอนที่ 7
     ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2503 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุฏฺฐายีมหาเถร สังฆนายกได้ทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช กิตฺติโสภณมหาเถร มีความว่าพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุฯ ได้เสพเมถุนทางเวจมรรค (ทวารหนัก)คือรักร่วมเพศกับลูกศิษย์ภายในวัด และทำอัชฌาจาร (ผิดประเวณี)ปล่อยสุกกะ(น้ำกาม) ตำรวจสันติบาล ได้นำพยาน 5 คนมาให้คำยืนยันรับรองคำให้การในคดีดังกล่าว ต่อหน้ากรรมการสงฆ์ทีละคน พร้อมกับได้จดบันทึกและลงนามเป็นหลักฐานไว้พร้อมกันแล้ว
    คณะกรรมการสงฆ์จึงลงความเห็นว่าพระพิมลธรรมต้องศีลวิบัติ ขาดจากความเป็นภิกษุ ไม่สมควรทรงเพศเป็นบรรพชิตและไม่สมควรดำรงสมณศักดิ์ต่อไปพร้อมกับขอประทานเสนอให้สมเด็จพระสังฆราช อริยวงศาคตญาณ(กิตฺติโสภณมหาเถระ) ทรงจัดการในชั้นปกครองต่อไป ซึ่งพระสังฆราช
ได้มีพระบัญชาลงวันที่ 8 กันยายน 2503 ให้พระพิมลธรรมออกจากสมณเพศภายใน 15 วัน ดังมีข้อความว่า คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์เห็นว่าท่านถึงศีลวิบัติ ขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว ไม่สมควรทรงเพศบรรพชิตในพระพุทธศาสนา และไม่สมควรดำรงสมณศักดิ์ต่อไป .. ขอให้ท่านพิจารณาตนด้วยตน ขอให้ท่านออกเสียจากสมณเพศและหลบหายตัวไปเสีย ...ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ปรากฏในลิขิตนี้
    หลังจากได้รับลิขิตดังกล่าว พระพิมลธรรมตลอดจนคณะสงฆ์วัดมหาธาตุจึงได้ทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช และผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมืองเพื่อขอความเป็นธรรม และขอโอกาสชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวหลายครั้งแต่กลับไม่เคยได้รับโอกาสแก้ข้อกล่าวหา หรือมีการสอบสวนรับฟังข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม 2503สมเด็จพระสังฆราช อริยวงศาคตญาณ (กิตฺติโสภณมหาเถระ)ทรงอาศัยอำนาจตามมาตรา 46 แห่งสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ 2486มีพระบัญชาให้พระพิมลธรรมพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯฐานประพฤติผิดอย่างร้ายแรงและในวันที่ 29 ตุลาคม 2503 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร)สังฆนายกได้เรียกคณะสังฆมนตรีประชุม ลงมติให้ถอดพระศาสนโศภณ(ปลอด อตฺถการี ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสออกจากสมณศักดิ์และมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้ถอดพระพิมลธรรมออกจากสมณศักดิ์ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2503


พระพิมลธรรม ตอนที่ 8
     วันที่ 11 พฤศจิกายน 2503 จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีถอดพระพิมลธรรม ออกจากสมณศักดิ์มีความว่า ด้วยพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคณะสังฆมนตรีได้พิจารณาแล้วมีมติว่าไม่สมควรจะได้ดำรงอยู่ในสมณศักดิ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ถอดพระพิมลธรรมออกเสียจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...เมื่อเหตุการณ์มาถึงขั้นนี้ พระพิมลธรรมจึงจำต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการโดยไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด
     คดีความที่ท่านถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเสพเมถุนวิตถารกับศิษย์ในวัดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงเลยแม้แต่น้อย หากเป็นการใส่ร้ายป้ายสีและสร้างความมัวหมองในการดำรงสมณเพศของท่านอย่างเลวร้ายท่านจึงจำต้องหาทางแก้ข้อกล่าวหานี้ เมื่อไม่อาจได้รับความเป็นธรรมจากคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และฝ่ายปกครองบ้านเมือง ท่านจึงต้องขอพึ่งศาลยุติธรรมโดยท่านได้มอบอำนาจให้ศิษย์ดำเนินการฟ้องพยานที่ให้การแก่ตำรวจเหล่านั้นเป็นคดีอาญาฐานใส่ร้ายแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาทโดยเฉพาะนายวีรยุทธ์ วัฒนานุสรณ์ ซึ่งเป็นพยานปากสำคัญที่ให้การแก่ตำรวจ
     ในที่สุดนายวีรยุทธ์ วัฒนานุสรณ์ ก็ได้สารภาพต่อศาล เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2503ว่า " ข้าพเจ้านายวีรยุทธ์ วัฒนานุสรณ์ ได้กราบเรียนต่อศาลรับสารภาพว่าข้าพเจ้าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง และเพื่อรับบาปกรรมที่กระทำผิดไปแล้วตามวิธีการทางศาสนา ข้าพเจ้าได้กราบขอขมาโทษและขออโหสิกรรมแต่พระเดชพระคุณท่านต่อหน้าศาลแล้ว จึงขอโฆษณา ณ ที่นี้ว่าพระเดชพระคุณพระอาจ อาสโภ มิเคยได้ประพฤติล่วงละเมิดสิกขาบทเป็นศีลวิบัติดังที่ข้าพเจ้าต้องกล่าวใส่ร้ายพระเดชพระคุณท่านแต่ประการใด.."
     หลังจากพระพิมลธรรมถูกถอดสมณศักดิ์ไปได้ปี กว่า ๆท่านก็ต้องเผชิญการคุกคามอย่างเลวร้ายอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2505เวลา 12.30 น. มีนายตำรวจและสารวัตรทหารหลายคนบุกไปล้อมจับกุมท่านถึงกุฏิ ตั้งข้อหาว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร เป็นความผิดอาญามีโทษถึงประหารชีวิต ท่านถูกจับไปสอบสวนที่สันติบาลกอง 1 พร้อมทั้งมีบันทึกคำสั่งจากสมเด็จสังฆนายก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์วัดมกุฏกษัตริย์ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) ให้จัดการสึกพระภิกษุอาจ อาสโภจากสมณเพศ เพื่อสะดวกแก่การสอบสวนคดี และเพื่อความปลอดภัยแห่งชาติและพระพุทธศาสนาไว้ โดยสมเด็จสังฆนายกได้มอบอำนาจให้พระธรรมวโรดมสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองและให้เจ้าคณะจังหวัดพระนครดำเนินการสึกพระพิมลธรรม หรือ ภิกษุอาจ อาสโภทันที

พระพิมลธรรม ตอนที่ 9
     ค่ำวันเดียวกัน พระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น ชุตินธโร หรือต่อมาคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือ สมเด็จฟื้น วัดสามพระยาสังฆมนตรีศึกษา) เจ้าคณะจังหวัดพระนครพร้อมด้วยพระธรรมมหาวีรานุวัตร ( ไสว ฐิตวีโร สังฆมนตรีลอย วัดไตรมิตรต่อมาได้เป็นพระวิสุทธาธิบดี )ได้เดินทางไปยังกรมตำรวจ สันติบาลกอง 1เพื่อสึกพระภิกษุอาจ อาสโภ แต่ท่านได้ร้องขอความเป็นธรรมให้ท่าน
ได้มีโอกาสต่อสู้คดีนี้ ในเพศบรรพชิตจนกว่าจะชนะหรือแพ้ในที่สุดแต่เจ้าคณะจังหวัดพระนครไม่สามารถยินยอมได้ตามลำพังเนื่องจากท่านไม่มีอำนาจหน้าที่จะอนุญาตได้ ทั้งการจับสึกครั้งนี้เป็นคำสั่งโดยตรงจากสังฆนายกและสังฆมนตรี
     ภิกษุอาจ อาสโภ จึงขอโอกาสเขียนคำร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจทั้งสองให้ท่านได้มีโอกาสต่อสู้คดีในเพศบรรพชิตแต่มีบันทึกที่ตอบกลับมาในคืนนั้น คือ คำสั่งเฉียบขาดจากสมเด็จสังฆนายก(จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) ให้ทำการสึกท่านโดยไม่มีการลดหย่อนผ่อนผันแต่อย่างใดท่านจึงได้ทำหนังสือปฏิญาณตนร้องขอความเป็นธรรมเป็นครั้งสุดท้ายมีข้อความว่า "...กระผมก็จะขอความกรุณาอีก คือไม่ยอมสึกตามข้อบังคับอันมิชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมายนั้น จะยอมเอาชีวิตบูชาพระรัตนตรัยไปจนถึงที่สุด ..และกระผมจะยังปฏิญญาณเป็นพระภิกษุในพระศาสนาอยู่ตลอดไปถึงแม้จะมีผู้ใจโหดร้ายทารุณแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ ของกระผมไปกระผมก็จะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ชุดอื่นแทน ซึ่งกระผมมีสิทธิตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย จึงขอให้ท่านเจ้าคุณผู้รู้เห็นอยู่ ณ ที่นี้โปรดทราบและเป็นสักขีพยานให้แก่กระผม ตามคำปฏิญาณนี้ด้วย"
     พระพิมลธรรมนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้นวม หลับตานับลูกประคำเจริญพระพุทธคุณ 108 บท ปล่อยให้เจ้าคณะจังหวัด และพระธรรมมหาวีรานุวัตรเข้ามาเปลื้องผ้าเหลืองออก เมื่อเสร็จสิ้นแล้วพระธรรมคุณาภรณ์เจ้าคณะจังหวัดและพระธรรมมหาวีรานุวัตรก็เดินทางกลับ

พระพิมลธรรม ตอนที่ 10
     ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2505 พระพิมลธรรมต้องจำพรรษาอยู่ในห้องขังณ กรมตำรวจสันติบาลกอง 1 เรียกกันในหมู่ผู้ถูกคุมขังเมื่อท่านมาจำพรรษาอยู่ว่า สันติปาลาราม พระพิมลธรรมยังคงมีความสงบสบายใจเป็นปกติเช่นเดิมมิได้หวั่นไหว ทุกข์ร้อนใจในชะตากรรมที่ประสบแต่อย่างใดท่านบันทึกไว้ว่า "รู้สึกขอบใจพระเจ้าอยู่มาก ที่พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้เรามีน้ำใจเป็นนักกีฬา นับแต่วาระที่นายตำรวจเข้าไปติดต่อที่ห้องรับแขกแจ้งถึงการที่เขาจะมาจับกุมตัว จนกระทั่งถึงในขณะที่กำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้จิตไม่เสื่อมทรุดหรือเรียกว่าไม่ย่นย่อต่ออารมณ์เลย คงเป็นปกติอยู่เช่นเดิมก็ได้แต่ปีติโสมนัสจิตเกิดขึ้น ว่าเป็นโอกาสที่ดีหาได้ยากที่ประสบอยู่นี้คนอื่นๆนับจำนวนหมื่นๆแสนๆไม่เคยได้ประสบเลย เราจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีโชคดีที่สุดและเป็นการประลองกำลังใจไปในตัว.."
     ท่านเห็นว่าการได้ใช้ชีวิตอยู่ในห้องขัง เป็นโอกาสอันดียิ่งที่ท่านจะได้ใช้เวลาเขียนหนังสือ ศึกษาพระธรรม และเจริญภาวนาอย่างเต็มที่เพราะไม่ต้องถูกรบกวนด้วยภาระหน้าที่การงานด้านอื่น
เหมือนเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ท่านกล่าวว่า"..จะอยู่ไหน ก็ใต้ฟ้าเหนือดินเหมือนกัน ทำประโยชน์ได้ทั้งนั้น แม้ในห้องขังเล็ก ๆเราก็เป็นใหญ่ได้ เพราะใจของเราเป็นอิสระเสรีในขอบเขตของธรรม "
     ตลอดเวลาที่ท่านถูกคุมขัง ท่านได้รักษาการปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัยท่านเป็นพระที่แท้ คือเป็นพระที่หัวใจ ความเป็นพระของท่านไม่ได้ขึ้นอยู่กับผ้าเหลืองหรือการได้ตำแหน่งแต่งตั้งของสถาบันใด ๆหากแต่อยู่ที่ใจที่ยึดมั่นในธรรม และปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลาจึงมีความหาญกล้าและเบิกบานในธรรมเป็นธรรมดา
     เมื่อตำรวจได้จับกุมพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)มาแล้ว ก็พยายามหาหลักฐานเอาผิดท่าน ว่าท่านมีการกระทำอันเป็นคอมมูนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามข้อหาที่ได้ยัดเยียดให้ท่านทางฝ่ายกลุ่มพระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังการให้ร้ายท่านก็มีการสูญเสียอย่างไม่คาดฝัน เพราะ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)ได้สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2505 จากอาการเส้นเลือดใหญ่ในพระสมองแตกอย่างปัจจุบัน หลังการจับกุมพระพิมลธรรมไปคุมขังได้ไม่กี่เดือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ญาโณทยมหาเถร (อยู่)ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระสังฆราชแทน

พระพิมลธรรม ตอนที่ 11 (เศร้ามาก)
     คดีของพระพิมลธรรมยังคงยืดเยื้อ กรมตำรวจพยายามหาหลักฐานมาสรุปสำนวนจนสามารถยื่นฟ้องต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพฯ ได้ในปี 2507ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยหลายครั้งเป็นระยะเวลานานถึง3 ปี ตั้งแต่ปี 2507-2509ในระหว่างนั้นพระภิกษุสามเณร และสาธุชนนับพันที่เชื่อมั่นว่าพระพิมลธรรมเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้พากันยื่นจดหมายร้องขอความเป็นธรรมให้กับท่านเรียกร้องให้มีการพิจารณาคดีพิสูจน์ความจริง
     จนกระทั่งวันที่ 30 สิงหาคม 2509 เวลา 9.00 น. ศาลทหารกรุงเทพได้มีพิพากษาว่า " ตามที่ศาลได้ประมวลวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้อง และกล่าวหามาหลายข้อหาหลายประเด็นนี้ มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆเลยพอที่จะชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำหรือน่าจะกระทำผิดแต่กลับมาต้องถูกออกจากเจ้าอาวาส ถูกออกจากสมณศักดิ์ ถูกจับกุมถูกบังคับให้สละเพศพรหมจรรย์ นับว่ารุนแรงที่สุดสำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่ปวงชนเคารพนับถือ
     พระธรรมโกศาจารย์ถึงกลับกล่าวว่า คิดได้อย่างเดียวว่าเกิดขึ้นเพราะความอิจฉาริษยากันในวงการสงฆ์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรรมเก่าของจำเลยเท่านั้นเองจำเลยถูกกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรมจริงๆ ไม่ได้กระทำผิดตามกล่าวหา ...ศาลนี้รู้สึกสลดใจและเห็นใจจำเลย แต่เชื่อว่าจำเลยซึ่งอบรมอยู่ในพระศาสนามานาน คงจะทราบซึ้งดีในอุเบกขาญาณที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นกำเนิดมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่วก็ตามก็จะเป็นกรรมทายาทรับผลของกรรมนั้นและคงจะตั้งอยู่ในคุณธรรมอันเป็นลักษณะของบัณฑิตในพระพุทธศาสนาสืบไปอาศัยเหตุผลและดุลยพินิจที่ได้วินิจฉัยมา จึงพร้อมกันพิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป

พระพิมลธรรม ตอนที่ 12
     พระภิกษุสามเณรพุทธศาสนิกชนจำนวนนับพันที่ไปร่วมฟังคำพิพากษาครั้งสำคัญนี้ ต่างพากันชื่นชมยินดีอนุโมทนาสาธุการต่อพระพิมลธรรมในการที่ท่านได้พ้นจากมลทินข้อกล่าวหาอันฉกรรจ์นั้น
รวมระยะเวลาที่ท่านถูกคุมขังอยู่ในสันติบาลโดยไม่มีความผิดเป็นเวลานานถึง 5 ปีทันทีที่มีคำพิพากษาของศาลทหาร ท่านก็ได้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มผ้าไตรจีวรสี กรัก(สีเหลืองหม่น ย้อมจากแก่นขนุน)ที่ได้เตรียมมาแล้วทันที ณ ศาลทหารกรุงเทพฯกระทรวงกลาโหมนั่นเอง
     จากนั้นท่านก็ได้กลับมาจำวัด ณ วัดมหาธาตุฯตามเดิม ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของคณะสงฆ์วัดมหาธาตุ ท่านได้ช่วยทำนุบำรุงศาสนาอย่างเต็มกำลังเหมือนเดิมแทบทุกอย่าง ช่วยอุปถัมภ์การศึกษาพระอภิธรรมปิฎกและการวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยดีตลอดมา ทั้งยังได้เดินทางไปเทศน์ ปาฐกถาและอบรมศีลธรรมแก่ภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนตามสถานที่ต่างๆอยู่เสมอ
     ท่านมิได้ต้องการจะกลับคืนสู่สมณศักดิ์ และตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯอีกท่านต้องการจะใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นปฏิบัติธรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อไปอย่างสงบ แต่บรรดาสานุศิษย์ทั้งบรรพชิต และฆราวาสได้ยืนยันที่จะเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ท่านแม้ว่าพระพิมลธรรมจะได้เคยทักท้วงไว้แล้วก็ตาม แต่สานุศิษย์โต้แย้งว่าสิ่งกระทำลงไปนี้ไม่ได้กระทำเพื่อผลประโยชน์ของท่านหากแต่เป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สังคมมนุษยชาติต่างหากหากสังคมมนุษยชาติไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ก็ยากที่จะหาความสันติสุขได้ทั้งนี้จำเป็นต้องกราบขออภัยท่านอย่างมาก ที่จำเป็นต้องขออาศัยกรณีของท่านขึ้นมาเป็นบรรทัดฐาน ในเรื่องดังกล่าว แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคและการขัดขวาง จากกลุ่มพระเถระชั้นผู้ใหญ่บางกลุ่ม ที่ยังทรงอำนาจอยู่ในคณะสงฆ์แต่บรรดาสานุศิษย์ได้พยายามดำเนินการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่พระพิมลธรรมเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง

พระพิมลธรรม ตอนที่ 13 (จบ)
      จนกระทั่งวันที่ 31 พฤษภาคม 2518 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าให้คืนสมณศักดิ์ ให้ท่านและพระศาสนโศภณดังเดิมและต่อมาก็ได้มีการประกาศแต่งตั้งให้พระพิมลธรรมกลับคืนสู่ตำแหน่งกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 และได้กลับคืนสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯดังเดิม ในวันที่ 5 ตุลาคม 2524ทั้งนี้รวมระยะเวลา นับตั้งแต่ที่ท่านต้องต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรมจากพระฝ่ายศักดินานิยมกษัตริย์ จนถึงวันที่ได้รับสมณศักดิ์และตำแหน่งกลับคืน
ดังเดิม เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 21 ปีซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น พระพิมลธรรมก็แก่เกินกว่าจะเป็นอุปสรรค
ต่อขบวนการสงฆ์นิยมเจ้าในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอีกต่อไป
      สมเด็จสังฆนายก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฏกษัตริย์ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร)ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2508 และสิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุเพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กส่วนบุคคลขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2514เวลา10.05 น.
      พระธรรมวโรดมวัดพระเชตุพน ได้เป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่นปุณณ สิริ) ได้เพียง1 ปี 4 เดือนก็สิ้นพระชนม์ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยอาการความทรงจำเสื่อม เป็นอัมพาตเป็นเนื้องอกในปอดข้างซ้าย กระจายไปที่สมอง มีพระโลหิตออกจากกระเพาะอาหารปอดบวม สิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2516
      การกำจัดพระพิมลธรรมถือได้ว่า เป็นอันสำเร็จเสร็จสิ้นตามพระราชประสงค์ในการยึดกุมพระศาสนา และวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในมือของวังคราวนี้ประวัติศาสตร์ การบูชาและประเพณีตามโรงเรียนและวัดสามารถถูกบงการได้เพื่อสร้างการสนับสนุนต่อวัฒนธรรมและอำนาจของราชวงศ์จักรี
อย่างไม่มีการตั้งคำถามใดๆ ในกลางทศวรรษ 2500

ที่มา Pegasusfire Michael

   
โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์