ปางทรงสุบิน

   

ลักษณะของพระพุทธรูป 

   พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา (สำเร็จสีหไสยา)  พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาแนบกับพื้นยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ(คาง)  หลับพระเนตรแล้วงอพระหัตถ์แนบกับพระปราง  พระเศียรหนุนพระเขนย  เป็นกิริยาบรรทมหลับ

ประวัติความเป็นมา

    เมื่อพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ผู้เป็นพุทธางกูร  ทรงเลิกละทุกกรกิริยาเปลี่ยนมาทำความเพียรทางใจ  ปัญจวัคคีย์ผู้เชื่อจารีตประเพณีคัมภีร์โหรก็สิ้นหวังพากันหลีกไป  พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ก็หาได้คลายความเพียรทางใจไม่  การบำเพ็ญเพียรทางใจนั้น  ได้เกิดอุปมาเปรียบเทียบ  ๓  ข้อขึ้นแก่พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์  ที่พระองค์ไม่เคยสดับและไม่เคยดำริมาก่อนเลย  ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า:-

      สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง  ซึ่งมีกายยังมิได้หลีกออกจากกาม  ยังพอใจรักใคร่ในกามอยู่  ยังละกามไม่ได้  ยังสงบระงับใจไม่ได้  สมณพราหมณ์เหล่านั้นแม้จะพยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติให้เข้มแข็งเสวย ทุกขเวทนาอันกล้าแสบ  โดยทรมานกายเพียงใดก็ตาม  ย่อมจะตรัสรู้ไม่ได้เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง  บุคคลแช่ไว้ในน้ำอยู่  บุรุษมีความต้องการด้วยไฟมาถือเอาไม้นั้นไปสำหรับสีไฟ  แม้บุรุษนั้นจะพยายามสีไฟด้วยไม้นั้นให้เกิดไฟ  ด้วยหวังจะได้ไฟ  บุรุษนั้นย่อมไม่อาจให้ไฟเกิดขึ้นได้  และย่อมจะไม่ได้ไฟเป็นแน่แท้ไฟจะไม่เกิดขึ้นเพราะการสีไฟนั้น  ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า  เพราะไม้นั้นยังสดมียางอยู่แถมยังแช่ไว้ในน้ำอยู่ด้วย

    อีกข้อหนึ่ง  สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง  แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว  แต่ยังมีความพอใจรักใคร่ในกามยังละกามไม่ได้  ยังสงบระงับใจไม่ได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแม้พยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติเข้มแข็งจนได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นอันเกิดเพราะความเพียรนั้นเพียงใดก็ตาม  ก็ย่อมจะตรัสรู้ไม่ได้  เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง  แม้ห่างไกลจากน้ำคือไม่ได้แช่ไว้ในน้ำ  บุคคลเอาตั้งไว้บนบก  บุรุษผู้มีความต้องการไฟจึงเอาไม้สดที่มียางนั้นมาสีไฟ  ก็ไม่สามารถทำให้เกิดไฟได้  ก็ย่อมจะไม่ได้ไฟเป็นแน่แท้  ด้วยไฟจะไม่เกิดขึ้นได้  ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า  เพราะไม้ยังสดอยู่และชุ่มด้วยยางด้วย

    อีกข้อหนึ่ง  สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง  มีกายออกจากกามแล้วและละความพอใจรักใคร่ในกามได้  ทำใจให้สงบระงับดีแล้ว  เมื่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น  ได้พยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติ  จะได้เสวยทุกข์ทรมานหรือหาไม่ก็ตาม  ก็ย่อมจะตรัสรู้ได้  เหมือนไม้แห้ง  และอย่าห่างไกลจากน้ำคือที่บุคคลวางไว้บนบก  บุรุษผู้มีความต้องการไฟเอาไม้นั้นมาสีไฟ  ย่อมอาจสีให้เกิดไฟได้เป็นแน่แท้  เพราะไม้นั้นเป็นของแห้งทั้งอยู่บนบกอีกด้วย

                อุปมาทั้ง  ๓  ข้อนี้  ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ผู้พุทธางกูร  เจ้าทรงมั่นหมายในการทำความเพียรทางใจว่า  จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแน่แท้

     ฝ่ายพวกปัญจวัคคีย์  ผู้มีความนิยมทุกกรกิริยา  เลื่อมใสในลัทธิทรมานกายให้ลำบากว่า  เป็นทางที่จะให้ตรัสรู้ได้  ครั้นเห็นพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ละความเพียรเวียนมา  เพื่อความมักมากเสียแล้วเช่นนั้น  ก็เกิดความเบื่อหน่ายในอันที่จะบำรุงอีกต่อไป  ด้วยเห็นว่า  พระองค์คงไม่สามารถบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งแน่  จึงพากันหลีกหนีไปเสียจากที่นั้นไปอยู่  ณ  ป่าอิสิปตนมฤทายวันเมืองพาราณสี

    พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์  ได้ทรงบำเพ็ญเพียรทางใจมาด้วยดีตลอดเวลา  จนถึงราตรีวันขึ้น  ๑๔ค่ำเดือน ๖  เวลาบรรทมหลับ  ทรงพระสุบินเป็นบุพพนิมิตมหามงคล  ๕  ประการคือ

๑.       ทรงพระสุบินว่า  พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐพี  พระเศียรหนุนภูเขาหิมพานต์  พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรในทิศตะวันออก  พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้

๒.    ทรงพระสุบินว่า  หญ้าแพรกเส้นหนึ่งออกจากพระนาภี  สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า

๓.     ทรงพระสุบินว่า  หมู่หนอนทั้งหลาย  สีขาวบ้างดำบ้างเป็นอันมาก  ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่เต็มพระชงค์  และไต่ขึ้นมาจนถึงพระชานุมณฑล

๔.     ทรงพระสุบินว่า  ฝูงนก  ๔  จำพวกมีสีต่างๆกัน คือ สีเหลือง สีขาว สีแดง สีดำ บินมาแต่ทิศทั้ง  ๔  ลงมาจับแทบพระบาทแล้วก็กลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น

๕.     ทรงพระสุบินว่า  เสด็จขึ้นไปจงกลมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม  แต่อาจมนั้นมิได้เปรอะเปื้อนพระยุคลบาท

ในพระสุบินทั้ง  ๕  ข้อ  นั้นมีคำทำนายว่า

ข้อที่ ๑. พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เป็นเลิศในโลกทั้ง    ๓

ข้อที่ ๒. พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์จะได้ทรงประกาศสัจธรรม  เผยมรรคผลนิพพานแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล

 ข้อที่ ๓.  คฤหัสถ์  พราหมณ์ทั้งหลายจะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก

ข้อที่ ๔. ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์  พราหมณ์  แพศย์ ศูทร  เมื่อมาสู่สำนักพระองค์แล้วจะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิหมดจดผ่องใสไปทั้งสิ้น

 ข้อที่  ๕.  ถึงแม่พระองค์จะสมบูรณ์ด้วยสักการวรามิสที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใสก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย

       ครั้นพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์  ตื่นบรรทมแล้ว  ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง  ๕  นั้นแล้วทรงทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เองว่า  จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้  ก็ทรงเบิกบานพระทัย  ครั้นได้ทรงทำสรีรกิจสะสรงพระวรกายหมดจดแล้ว  ก็เสด็จมาประทับนั่งที่ร่มไม้นิโครธพฤกษ์ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขปุณณมีดิถีกลางเดือน ๖  ปีระกา

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์