ปางประทานอภัย

   

ลักษณะพุทธรูป

     พระพุทธรูปปางนี้มี  ๒  แบบคือ  แบบหนึ่งอยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  ยกพระหัตถ์ทั้งสองป้องเสมอพระอุระตั้งฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองนั้นหันเข้าหากัน  เบนออกไปข้างหน้าเล็กน้อย

       อีกแบบหนึ่งอยู่ในอิริยาบถยืน  ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ  ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นไปข้างหน้า (แบบพระปางห้ามญาติ)

ประวัติความเป็นมา

     สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่  ณ  อัมพวันสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์  ใกล้พระนครราชคฤห์แคว้นมคธ  ขณะนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแคว้นมคธ  แต่ความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ไม่สู้จะเรียบร้อยนักด้วยเหตุ  ๓  ประการคือ

๑. พระองค์ทรงมีพระชนมายุน้อย

๒. ทรงเป็นขบถชิงราชสมบัติจากพระราชบิดา

๓. ทรงคบหานับถือพระเทวทัตเป็นอาจารย์

      ดังนั้นจึงไม่เป็นที่นิยมนับถือของประชาราษฎรโดยสมบูรณ์เนื่องจากพระเจ้าอชาตศัตรู  เป็นพระโอรสพระเจ้าพิมพิสารประสูติแด่พระนางเจ้าเวเทหิ  อัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารแต่สมัยยังเยาว์พระชนมายุอยู่นั้น  ดำรงศักดิ์เป็นรัชทายาทได้รับความเอาอกเอาใจจากพระบิดา  พระมารดา  ตลอดพระประยูรญาติผู้ใหญ่เสียจนเคยตัว  และยังคบคิดกับพระเทวทัตซึ่งมีนิสัยเป็นพาล  จึงทำให้พระองค์ต้องทำปิตุฆาต  คือ  ปลงพระชนม์พระราชบิดาตามคำยุยงของอาจารย์คือ  พระเทวทัต

     ต่อมาภายหลังพระเจ้าอชาตศัตรูสำนึกได้ในความผิดที่ตนหลงคบคิดกับคนพาล  ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง  อยู่มาวันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  พร้อมกับหมอชีวกผู้เป็นสหายรัก  และพระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าอชาตศัตรู  ครั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาจบลงแล้ว  พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบบังคมทูลแสดงความพอพระทัยว่า  พระเทศนาแจ่มแจ้งนัก  พระเจ้าข้า  พระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งดีมาก  พระเจ้าข้า  เหมือนหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด  บอกทางแก่คนหลงทาง  หรือเหมือนส่องตะเกียงในที่มืดข้อนี้ฉันใด  พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงประกาศธรรม  โดยอนเกปริยาย  ฉันนั้นเหมือนกัน  หม่อมฉันขอถึงพระพุทธองค์  พระธรรม  และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสก  ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  ต่อจากนั้นท้าวเธอได้ทูลขอประทานอภัยโทษกะพระผู้มีพระภาคว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญโทษได้ครอบงำหม่อมฉัน  ซึ่งเป็นคนเขลา  คนหลงไม่ฉลาดหม่อมฉันได้ปลงพระชนม์ชีพ  พระราชบิดาผู้ดำรงอยู่ในธรรมเป็นพระราชาโดยธรรมเพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่

      ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิด  ของหม่อมฉันโดยเป็นความผิดจริง  เพื่อสังวรต่อไปเถิด

      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  เป็นความจริง  มหาบพิตรอาตมภาพขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร  การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง  แล้วสารภาพตามความเป็นจริงรับสังวรต่อไปนี้  เป็นความชอบในพระธรรมวินัยของพระอริยเจ้าแล

      เมื่อพระผู้มีพระภาค  ตรัสประทานอภัยตามเยี่ยงอย่างพระอริยเจ้าอย่างนี้แล้ว  พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหม่อมฉันขอทูลลากลับ  หม่อมฉันมีกิจอันจะต้องปฏิบัติมากพระเจ้าข้า  ตามสะดวกเถิดมหาบพิตร  พระพุทธองค์ทรงรับสั่ง  ครั้นแล้วพระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จลุกจากอาสนะ  ถวายบังคมลาพระผู้มีพระภาค  ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับยังพระราชนิเวศน์พร้อมกับหมอชีวก  ผู้เป็นสหายรัก

       เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จกลับไปแล้ว  พระพุทธองค์จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า  ภิกษุทั้งหลาย  พระราชาองค์นี้  ได้ถูกกรรมของพระองค์ราญรอนเสียแล้ว  หากท้าวเธอจะไม่พึงปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงอยู่ในธรรม  เป็นพระราชาโดยธรรมแล้ว  ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีมลทิน  คือ  พระโสดาปัตติผลจะเกิดแก่ท้าวเธอ  ณ  ที่ประทับนี้ทีเดียวภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีในคาถาสุภาษิตของพระพุทธองค์โดยทั่วกันแล

      พระพุทธจริยาตอนประทานอภัยโทษแก่พระเจ้าอชาตศัตรูนั่นเอง  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า  “ปางประทานอภัย”  ขึ้นเป็นแบบอย่างสืบต่อมา

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์