ปางขับพระวักกลิ

   

ลักษณะพุทธรูป

     พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา  พระหัตถ์ขวาทรงยกขึ้นเสมอพระอุระ  เอาฝ่าพระหัตถ์เข้าใน  หันหลังพระหัตถ์ออกข้างนอกเป็นกิริยาโบกหลังพระหัตถ์ออก  แสดงอาการขับไล่ออกไป

ประวัติความเป็นมา

      ณ  เมืองสาวัตถี  ได้มีมาณพคนหนึ่ง  ชื่อว่า  วักกลิเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่งครั้นเจริญวัยขึ้นได้ศึกษาศิลปวิทยาแล้วได้ประกอบอาชีพเป็นหลักฐานอยู่ใน  พระนครสาวัตถีวันหนึ่งวักกลิมาณพได้เห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาต  พยายามพิเคราะห์ดูพระวรกายของพระบรมศาสดาซึ่งงามพร้อมด้วยพระลักษณะอันหาตำหนิมิได้  ทั้งกิริยาอาการที่เสด็จเยื้องกายก็สง่างาม  น่าชมยิ่งนัก  เดินติดตามชมอยู่ไม่รู้จักอิ่มจึงคิดแต่ในใจว่า  เราเป็นคฤหัสถ์อยู่ในเพศของผู้ครองเรือนเช่นนี้  ยากที่จะได้ชมใกล้ๆ จะได้ชมบ้างก็เป็นครั้งคราว  ไม่มีโอกาสจะได้ชมเสมอไป  ถ้าเราได้ออกบวชเป็นบรรพชิตจะเป็นทางให้เราได้ชมอย่างใกล้ชิด  และจะได้ชมตลอดกาลด้วยครั้นคิดตกลงใจอย่างนั้นแล้ว  จึงได้สละบ้านเรือนพร้อมทรัพย์สมบัติออกบวชในพระพุทธศาสนา

       ครั้นพระวักกลิบวชแล้ว   ก็หาได้สนใจในการท่องบ่นเล่าเรียนและเจริญธรรมกัมมัฏฐานแต่อย่างใดไม่  พยายามแต่จะหาโอกาสเข้าใกล้พระบรมศาสดามากี่สุด  ติดตามพระพุทธองค์ไปทุกทิศทาง  เพื่อให้สมเจตนาที่ออกบวช  สุดแต่ว่าตนอยู่  ณ  ที่ใดจะเห็นพระบรมศาสดาได้  ก็พยายามอยู่  ณ  ที่นั้นด้วยความรัก  ความพอใจในความงามของพระพุทธสรีระเป็นอันมาก

      พระบรมศาสดาทั้งที่ทรงทราบพฤติการณ์  ของพระวักกลิอยู่ก็มิได้มีรับสั่งอะไรๆ ทรงรอเวลาญาณบารมีของพระวักกลิอยู่  ต่อมาทรงทราบด้วยพระญาณว่า  ญาณบารมีในอันที่จะได้บรรลุมรรคผลของพระวักกลิแก่กล้าดีแล้ว  จึงทรงประทานโอกาสแก่วักกลิว่า

       วักกลิ  เธอต้องการอะไรด้วยการดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้วักกลิ  ผู้ใดเห็นธรรมนั้นจึงจะนับว่าเห็นเรา  ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นย่อมเล็งเห็นธรรม  คือว่าผู้ที่เห็นเราโดยไม่เห็นธรรมหาได้ไม่  และผู้เห็นธรรมดีแล้วนั้นแล  ย่อมจะเห็นเราผู้ตถาคตโดยประจักษ์แท้  เธอจงพยายามมองดูพระตถาคตเจ้าในธรรมเถิดอย่ามองดูพระตถาคตเจ้าในร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้เลย  เพราะอะไรเพราะผู้ที่มองเห็นพระตถาคตในธรรมนั้น  จึงจะนับว่าได้เห็นพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง

       แม้พระวักกลิ  จะได้รับโอวาทที่พระบรมศาสดามีพระมหากรุณาทรงประทานอย่างนี้แล้ว  ก็ไม่อาจจะระงับการชมพระบรมศาสดาแล้วไปในที่ใดๆ ก็คงติดตามดูพระบรมศาสดาอยู่อย่างนั้นนั่นเอง

       พระบรมศาสดาทรงดำริว่า  พระวักกลิรูปนี้ถ้าไม่ได้ประสบความสลดใจแล้ว  น่าจะไม่ได้ตรัสรู้ดังนั้น  ครั้นจวนใกล้วันเข้าพรรษาจึงได้เสด็จไปพระนครราชคฤห์  พระวักกลิก็ติดตามเสด็จไปด้วย  พอถึงวันเข้าพรรษาพระบรมศาสดาก็ทรงประณามขับพระวักกลิด้วยพระวาจาว่า  “จงออกไปวักกลิ”

       เมื่อพระวักกลิถูกประณามเช่นนั้น  จึงได้สลดใจมากด้วยไม่เคยนึกเคยฝันว่าตนจะได้รับโทษอันหนักเช่นนั้น  นึกแต่ในใจว่า  เมื่อพระบรมศาสดาไม่ทรงตรัสกะเราตลอดเวลา  ๓  เดือนเราเข้าหน้าใครไม่ได้  การอยู่ของเราก็ไม่มีความหมาย  ตายเสียดีกว่าการมีชีวิตอยู่สำหรับเราไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว  เวลานี้ก้นเหวเป็นเหมาะที่สุด  จึงเดินบ่ายหน้าขึ้นเขาคิชฌกูฏ  โดยหวังจะกระโดดเหวตาย  ด้วยความโศกเศร้าเป็นกำลัง

       ขณะนั้น  พระบรมศาสดาทรงทราบการกระทำของพระวักกลิโดยตลอด  ทรงดำริว่าภิกษุรูปนี้ถ้าไม่ได้ความสบายใจด้วยการปลอบโยนจากเราแล้ว  คงจะทำลายอุปนิสัยแห่งมรรคผลให้พินาศเสียเป็นแน่แท้  อาศัยพระมหากรุณาอันแรงกล้าได้ทรงเปล่งพระรัศมีให้พระรูปของพระองค์ปรากฏแก่พระวักกลิประดุจจะว่ายืนอยู่ในที่เฉพาะหน้า

      พระวักกลิได้เห็นพระบรมศาสดา  ประหนึ่งว่าเสด็จมาปรากฏพระกายอยู่ในที่ใกล้  มีพระพักตร์แจ่มใสเบิกบานแสดงพระเมตตาเช่นนั้น  ก็ดีใจระงับความเศร้าโศกอันใหญ่หลวงถึงปานนั้นได้ทันที  ประคองอัญชลีถวายบังคมพระบรมศาสดาด้วยความเคารพ  และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ  ที่ทรงประทานชีวิตอันสดชื่นคืนให้แก่ตนในเวลานั้น

      เมื่อพระบรมศาสดาจะทรงให้  ความปีติปราโมทย์อันแรงกล้าเกิดขึ้นแก่พระวักกลิเหมือนเทพเจ้าทำสระอันแห้งจนแตกระแหงให้เต็มด้วยน้ำฝน  ฉะนั้นจึงตรัสว่า  ปาโมชฺชพหุโลภิกฺขุ  เป็นอาทิ  ความว่า  ภิกษุที่มีใจมากด้วยความปราโมทย์ผ่องใสอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าย่อมบรรลุสันตบท  คือพระนิพพานเป็นที่เข้าไประงับสังขาร  มีความสุขแล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ออกประทาน  แก่พระวักกลิ  พร้อมด้วยพระวาจาว่า  มาเถิด  วักกลิ  อย่ากลัวเลย  จงมองตถาคตเสียให้สบายใจ  ตถาคตจะยกเธอซึ่งกำลังจมอยู่ในกองทุกข์  เหมือนช้างที่จมอยู่ในเปือกตม  ให้พ้นจากกองทุกข์  มาเถิดวักกลิ  อย่าหวาดเลย  จงมองดูตถาคตเสียให้สบายใจ  ตถาคตจะยกเธอซึ่งกำลังถูกความทุกข์บีบคั้น  เหมือนดวงจันทร์ที่ถูกราหูบีบคั้นให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้นเสีย

      พระวักกลิเกิดความปีติปราโมทย์อย่างแรงกล้า  เป็นอุเพงคาปีติในเวลานั้น  พลันคิดว่าเราได้เห็นพระพุทธเจ้า  พร้อมทั้งได้ยินพระสุระเสียงที่ตรัสเรียกหา  เราจะไปเฝ้าพระองค์ทางไหนดีหนอ  เมื่อยังไม่เห็นทางที่จะไปร่างกายท่านก็ได้ลอยขึ้นไปในอากาศ  ตรงไปยังทางพระพักตร์พระบรมศาสดาที่แลเห็นอยู่ท่านใคร่ครวญดูพระวาจาที่ตรัสสอนในขณะที่ยืนอยู่บนยอดภูเขา  ตั้งแต่บาทแรกของคาถาเป็นต้นไป  พร้อมกับข่มปีติที่ทำให้ฟูขึ้นเกินไปลงเสีย  ก็พลันได้บรรลุพระอรหันต์  พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณในอากาศนั้นเอง  ถวายบังคมพระตถาคตแล้วลอยลงมาเฝ้าพระพุทธองค์ที่ยังคงประทับอยู่ด้วยคารวะอันสูง  ต่อมาพระบรมศาสดาได้ทรงตั้งท่านไว้ในอัครฐานของพระสาวกว่าเป็นผู้เลิศในคณะสัทธาธิมุติด้วยกันแล

      พระพุทธจริยาตอนทรงขับไล่พระวักกลินั้นเอง  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า  “ปางขับพระวักกลิ

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์