ปางลีลา

   

ลักษณะพุทธรูป

     พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  ยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น  ปลายพระบาทยังจดอยู่กับพื้น  อยู่ในท่าจะก้าวเพื่อทรงพระราชดำเนิน  พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ในท่าไกวพระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ  ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน  บางรูปท่ายกพระหัตถ์ขวาก็มี  บางแห่งทำเป็นจีบพระองคุลีก็มี

ประวัติความเป็นมา

      ตามความจริงแล้ว  การยกพระบาทเยื้องย่างเสด็จพระราชดำเนิน  ซึ่งนิยมเรียกกันว่าการลีลาของพระพุทธองค์นั้นโดยปกติก็ทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกเมื่อเชื่อวัน  ไม่น่าจะมีความสำคัญอะไร  ถึงกับให้สร้างพระพุทธปางนี้ขึ้นมาเลยแต่บังเอิญคราวเสด็จพระพุทธดำเนินลงจากดาวดึงส์เทวโลกในท่ามกลางเทวดาและพรหมห้อมล้อมครั้งนั้นว่ากันว่างามนักงามหนา  ถึงกับพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรยังไม่วายจะชื่นชมปรากฏว่าท่านได้กล่าวคาถาสรรเสริญการเสด็จพระพุทธดำเนินครั้งนี้  ถวายพระบรมศาสดาด้วยความเบิกบานใจว่า

                น  เม  ทิฏฺโฐ  อิโต  ปุพฺเพ  น  สุโต  อุท  กสฺสจิ

                เอวํ  วคฺคุคฺโท  สตฺถา     ตุสิตา  คณิมาคโต

        ความว่า  การที่พระพุทธเจ้าทรงพระศิริโสภาคอันงามปานนี้  ข้าพุทธเจ้ายังไม่เคยเห็นเลย  ไม่เคยได้ยินแม้แต่ถ้อยคำใครๆบอกเล่า  พระบรมศาสดามีพระสุระเสียงอันไพเราะอย่างนี้เสด็จจากดุสิตมาสู่แผ่นดิน

        พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เยื้องย่างลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์โดยบันได้แก้วมณีมัย  ท่ามกลางเทพยดาในหมื่นจักรวาล  มีท้าวสักกะเป็นต้น  โดยบันได้ทองสุวรรณมัยในเบื้องขวา  ท้าวสหัมบดีพรหมกับหมู่พรหมเป็นอันมากลงโดยบันไดเงินหิรัญญมัยในเบื้องซ้าย  ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จลีลาจากดาวดึงส์สวรรค์มาถึงเชิงบันไดที่สังกัสสนคร  เสด็จก้าวย่างลงจากบันไดแก้วนั้น  ทรงเหยียบพื้นดินแห่งเมืองสังกัสสนครท่ามกลางมวลประชาชนผู้รอเฝ้ารับเสด็จกันเนืองแน่นด้วยความปีติยินดีโสมนัสในการเสด็จกลับของพระพุทธองค์

         พระพุทธจริยาตอนเสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์สวรรค์นั้นเองเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางลีลา

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์