ปางห้ามแก่นจันทร์

   

ลักษณะพุทธรูป

      พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  ห้อยพระหัตถ์ขวาลงแนบพระกาย  ตั้งฝ่าพระหัตถ์ซ้ายยื่นออกไปข้างหน้า  ยกขึ้นเสมอพระอุระ  เป็นกิริยาทรงห้าม

ประวัติความเป็นมา

      ตามตำนานพระห้ามแก่นจันทร์เป็นตำนานเก่าก่อนพระพุทธรูปทั้งหมด  ซึ่งแสดงว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรก  เพราะมีในสมัยเมื่อพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่  แต่เป็นสิ่งประหลาดที่ฝ่ายบาลีก็ไม่ปฏิเสธหรือยอมรับเรื่องเข้าไว้  โดยไม่มีหลักฐานสำหรับศึกษา  คงเป็นแต่ที่ยอมรับรู้เห็นจะไม่เป็นเรื่องเสียหาย  ดังนั้น  จึงสมควรนำเรื่องพระปางห้ามแก่นจันทร์มากล่าวไว้ในเรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ ด้วยสำหรับประดับความรู้ของผู้สนใจจะรู้ด้วย

         เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จขึ้นไปจำพรรษาแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา  ในเทวพิภพ  ณ  พระแท่นบัณฑุกัมพลสิลาอาสน์  เป็นเหตุให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลได้ห่างเหินจากพระบรมศาสดาเป็นเวลานาน  มิได้พบเห็นพระบรมศาสดาจารย์เป็นเวลาแรมเดือน  ความเคารพรักได้กระตุ้นเตือนพระทัยให้ทรงระลึกถึง  มีพระกมลรำพึงรัญจวนอยู่มิได้ขาด  ด้วยพระองค์มีพระชนม์เป็นสหชาติเสมอด้วยพระชนม์ของพระบรมศาสดาจึงได้รับสั่งให้เจ้าพนักงานหาท่อนไม้แก่นจันทร์หอมอย่างดีมาแล้วโปรดให้ช่างไม้ที่มีฝีมือแกะเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางประทับนั่ง  มีพระรูปโฉมโนมพรรณงามละม้ายคล้ายพระบรมศาสดาแล้วโปรดให้อัญเชิญพระไม้แก่นจันทร์นั้น  มาประดิษฐานยังพระราชนิเวศน์  ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับมาแต่ก่อน  พอบรรเทาความอาวรณ์ได้  สบายพระทัยยามเมื่อได้ทอดพระเนตร  ครั้นภายหลังเมื่อพระบรมโลกเชฏฐเสด็จกลับจากสรวงสวรรค์แล้วเสด็จมาพระนครสาวัตถีอีก  พระราชาธิบดีปัสเสนทิโกศลได้ทูลอาราธนาสมเด็จพระทศพลให้เสด็จไปยังพระราชนิเวสน์  เพื่อให้พระบรมโลกเชฏฐ์ได้ทอดพระเนตรพระไม้แก่นจันทร์อันงาม  แม้นเหมือนพระรูปดั่งเนรมิต  ซึ่งได้โปรดให้นายช่างประดิษฐ์จำลองขึ้นเป็นอนุสรณ์  ครั้นสมเด็จพระพุทธชินวรเสด็จถึงซึ่งพระราชสถานในพระราชนิเวสน์  ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระไม้แก่นจันทร์นั้น  พระไม้แก่นจันทร์นั้นก็ทำเป็นเสมือนหนึ่งว่ามีจิตรู้จักปฏิสันถารกิจที่ควรต้องลุกขึ้นถวายความเคารพพระบรมศาสดา  ได้ขยับพระองค์เขยื่อนเลื่อนลงจากพระแท่นที่ประทับ  ครั้งนั้นพระมหามุนีจึงได้ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นห้ามพร้อมด้วยตรัสว่า

                “เอวํ  นิสีทถ  ขอพระองค์จงประทับนั่งอยู่อย่างนั้นแล”

       ครั้นสิ้นกระแสพระพุทธานุญาต พระไม้แก่นจันทร์ก็ลีลาศขึ้นประทับนั่งยังพระแท่นเดิมนั้น  พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงประสบความอัศจรรย์  ก็ทรงโสมนัสเลื่อมใสอัศจรรย์ในพระบารมี  ได้ทรงอาราธนาพระชินสีห์พุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก  เสวยพระกระยาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ท้าวเธอได้เสด็จอังคาสด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ด้วยความเคารพเป็นอันดี  ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้วพระพุทธองค์ก็ถวายพระพรลา  พาพระภิกษุสงฆ์สาวกเสด็จกลับไปประทับยังพระเชตวนาราม

       พระพุทธจริยาตอนทรงยกพระหัตถ์ห้ามพระไม้แก่นจันทร์นั้นและเป็นนิมิต  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า  “ปางห้ามแก่นจันทร์

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์