ปางปัจจเวกขณ์

   

ลักษณะพระพุทธรูป 

    พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิพระหัตถ์ซ้ายประครองบาตรที่วางอยู่บนพระเพลา  พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ  ทอดพระเนตรลงต่ำ

 ประวัติความเป็นมา

    เมื่อพระสิทธัตถบรมโพธิสัตว์  ครั้นทรงอธิษฐานเพศบรรพชิตแล้ว  จึงมีดำรัสสั่งนายฉันนะอำมาตย์ว่า  เธอจงเป็นธุระนำเอาอาภรณ์เครื่องประดับของเรากลับเข้าไป  ยังกรุงกบิลพัสดุ์  และกราบทูลพระชนกนาถและราชมาตุจฉา  ตลอดทั้งขัตติยสกุลให้ทรงทราบเหตุแห่งเราทุกประการ  อย่าให้ทรงทุกข์โทมนัสถึงเราอีกเลย  จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด  เมื่อเราได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว  จึงจะไปเฝ้า  จงกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้เถิดฉันนะ

     นายฉันนะอำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว  ก็ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาทมิอาจอดกลั้นโศกาอาดูรได้  อีกใจหนึ่งนั้นมิอยากจะจากไปด้วยความเสน่หาอาลัยเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งรู้สึกว่าเป็นโทษหนักนัก  ที่ทอดทิ้งพระสิทธัตถะไว้พระองค์เดียว  แต่ถึงกระนั้นก็มิอาจจะขัดกระแสรับสั่งได้  จึงจำต้องจากพระองค์ไปด้วยความสลดใจสุดจะประมาณได้  นำเครื่องอาภรณ์ทรงของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าพร้อมกับม้ากัณฐกะกลับพระนครกบิลพัสดุ์พอออกเดินทางไปได้ชั่วสุดสายตาเท่านั้น  ม้ากัณฐกะก็ล้มลงขาดใจตายด้วยความอาลัยในพระบรมโพธิสัตว์เจ้าสุดกำลัง

      เมื่อนายฉันนะกลับถึงพระนครแล้ว  ก็แจ้งข่าวแก่ชาวเมืองที่ตามมามุงถามข่าวและอำมาตย์ผู้ใหญ่  ตลอดจนเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะถวายเครื่องอาภรณ์ทรงของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า  และกราบทูลความตามที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทรงรับสั่งถ้วนทุกประการ

      ครั้นพระราชบิดา  พระมาตุจฉา  ตลอดขัตติยราชวงศ์ได้สดับข่าวก็ค่อยคลายความเศร้าโศก และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าสืบไป  ตามคำพยากรณ์ของอสิตดาบสและพราหมณ์ทั้งหลายทูลถวายไว้แต่ต้นมา

     ส่วนพระบรมโพธิสัตว์เจ้า  หลังแต่ทรงบรรพชาเพศแล้วเสวยบรรพชาสุขอยู่  ณ  ป่าไม้มะม่วงตำบลหนึ่ง  มีนามว่าอนุปิยอัมพวัน  เว้นเสวยพระกระยาหารถึง  ๗  วัน  ครั้นวันที่  ๘  จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์  โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวรควรแก่ภาวะของสมณะ  เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้พบเห็น  เมื่อได้อาหารภัตพอสมควรแก่ยาปนมัตถ์แล้วก็เสด็จกลับ  โดยทางประตูที่แรกเสด็จเข้าไปตรงไปยังมัณฑวะบรรพต  อันมีหน้าผาเป็นที่น่ารื่นรมย์ร่มเย็นควรแก้สมณะวิสัย  ประทับนั่งแล้วทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาตรทอดพระเนตรเห็นอาหารบิณฑบาตในบาตร  ไม่สะอาดไม่ประณีต  หากลิ่นรสอันจะชวนให้บริโภคสำหรับคนที่อดอาหารมาตั้ง  ๗  วัน  เช่นด้วยพระองค์ก็ไม่ได้  เป็นอาหารเลวที่พระองค์ไม่เคยเสวยมาก่อน  ก็บังเกิดปฏิกูลสัญญาน่ารังเกียจเป็นอันมากจนเสวยไม่ได้

     ลำดับนั้นพระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า  สิทธัตถะเอ๋ย  ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ  เคยบริโภคอาหารอันปรุงแต่งด้วยสุคนธชาตโภชนสาลี  ทั้งประกอบด้วยสูปพยัญชนะมีรสอันเลิศต่างๆ ไฉนท่านจึงไม่รู้สึกตนว่า  บัดนี้ท่านเป็นบรรพชิตอยู่ในรูปนี้  และเที่ยวขอเขาโดยอาการของสมณะที่นิยมเรียกว่า  บิณฑบาต  แล้วอย่างไรท่านจะได้อาหารอันสะอาดประณีตมาแต่ที่ใดเล่า  สิทธัตถะบัดนี้  ท่านควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้  ครั้นให้โอวาทแก่พระองค์ฉะนี้แล้วก็ทรงมนสิการพิจารณาอาหารบิณฑบาตด้วยธาตุปัจจเวกขณ์และปฏิกูลปัจจเวกขณ์ด้วยพระปรีชาญาณว่า ยถาปจฺจยํ  ปวตฺตมานํ  ธาตุมตฺตเมเวตํ  เป็นอาทิ  ด้วยพระสติดำรงมั่น  ความว่าสรรพสิ่งทั้งหมด  ย่อมเป็นไปตามปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น  ถึงอาหารบิณฑบาตนี้  ความจริงก็สักแต่ว่าเป็นธาตุ  จะต้องเป็นไปตามปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเช่นเดียวกันเป็นต้นแล้วทรงเสวยอาหารบิณฑบาตนั้นโดยปราศจากความรังเกียจ  ดุจเทพเจ้าดื่มอมฤตรสและทรงกำเนิดในพระทัยว่า  ตั้งแต่ทรงผนวชมาได้  ๘  วัน  เพิ่งได้เสวยภัตตาหารในวันนี้

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์