ปางห้ามสมุทร

   

หรือปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร

(ปางห้ามญาติ)

ลักษณะพุทธรูป
        พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ  ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาทรงห้าม  เป็นแบบพระทรงเครื่องก็มี


ประวัติความเป็นมา
        ครั้นพระบรมศาสดาทรงโปรดพระยสะแล้ว  ต่อมาก็ทรงแสดงธรรมโปรด วิมละ  สุพาหุ  ปุณณชิ  และควัมปติ  เศรษฐีบุตรรวม  ๔  คน  กับมาณพอีก  ๕๐  คน  ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนของพระยสะ  ให้สำเร็จอรหันแล้วประทาน  เอหิภิกขุอุปสัมปทา  ให้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  ครั้งนั้นมีพระอรหันตสาวก  ๖๐  องค์ด้วยกัน  รวมกับพระพุทธองค์เป็น เป็นพระอรหันต์ ๖๑  องค์
    เมื่อพระสาวกมีมาก  พอจะส่งไปเที่ยวประกาศพระศาสนาเพื่อเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่หมู่ชนได้แล้ว  พระบรมศาสดาทรงเห็นว่า  บัดนี้ควรจะประกาศศาสนาได้แล้ว  จึงตรัสเรียกพระสาวก  ๖๐  องค์มาพร้อมกันแล้ว  ตรัสว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง  ทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์  แม้พวกท่านทั้งหลาย  ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงเช่นกัน  ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบท  เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชน  เพื่ออนุเคราะห์แก่ประชุมชน  เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์  แต่อย่าไปรวมกัน  ๒  รูป  โดยทางเดียวกัน  จงแยกกันไปแสดงธรรมประกาศพรหมจรรย์  จงแสดงธรรมมีคุณในเบื้องต้น  ท่ามกลางและที่สุด  จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง  สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสบังปัญญาดุจธุลีในจักษุน้อยเป็นปกติมีอยู่  เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้  ถึงผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมีอยู่เป็นแน่ภิกษุทั้งหลาย  แม้เราเองก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม
    ครั้นพระองค์ทรงส่งพระสาวก  ๖๐  องค์  ไปประกาศพระศาสนาแล้ว  พระองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมครั้นเสด็จถึงไร่ฝ้าย  ทรงพบภัททวัคคีย์ผู้เป็นสหายกัน  ๓๐  คนได้ทรงแสดงธรรมโปรดกุมารทั้ง  ๓๐  คนนั้น  ให้บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว  ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว  ทรงส่งให้ออกไปประกาศพระศาสนาทั้ง  ๓๐  องค์  แล้วพระองค์ก็เสด็จต่อไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  เสด็จเข้าไปประทับอาศัยอยู่ในสำนักของอุเวลกัสสปะหัวหน้าชฎิล  ๕๐๐  ผู้เป็นที่เคารพนับถือของมหาชน  ในมคธรัฐเป็นอันมาก
    ต่อมาทรงทำปาฏิหาริย์นานาประการ  เริ่มตั้งแต่ทรมานพญานาคในโรงไฟอันเป็นที่นับถือของชฎิลเหล่านั้น  ให้สิ้นฤทธิ์แล้ว  ประทับอยู่ที่โรงไฟนั้นโดยผาสุกวิหาร  ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะ  ด้วยวิธีเครื่องทรมานต่างๆ ให้ชฎิลทั้งหลายมีความเคารพนับถือในอานุภาพของพระองค์  แล้วทรงทำปาฏิหาริย์อื่นๆอีก  ในครั้งสุดท้ายทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำซึ่งไหลบ่ามาจากทิศต่างๆ ท่วมสำนักท่านอุรุเวลกัสสปะ  มิให้น้ำเข้ามาในที่พระประทับ  พระองค์เสด็จจงกรมภายในวงล้อมของน้ำที่ท่วมเป็นกำแพงรอบด้าน  ครั้งนั้น  ชฏิลทั้งหลายพากันพายเรือมาดู  ต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ในที่สุดก็สิ้นพยศทั้งหมดยอมเป็นศิษย์ทั้งอยู่ในพระโอวาท  ถึงกับลอยบริขารของชฎิลลงทิ้งเสียในแม่น้ำแล้ว  ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาพระบรมศาสดาทรงประทานให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
    พระพุทธจริยาที่ทรงปาฏิหาริย์ห้ามน้ำครั้งนี้  ได้เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน  ที่นิยมในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า  ถือเป็นมงคลอันสูง  เป็นคุณอัศจรรย์ยิ่ง  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางห้ามสมุทร”
    แต่พุทธศาสนิกชนที่หนักในอนุสาสนีปาฏิหาริย์  นิยมในคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน  เห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่า  แม้จะได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นไว้  ก็หาได้ปรารภถึงเหตุนี้ไม่  แต่ไม่ได้ปรารภเหตุอื่นดังกล่าวต่อไปนี้:-
    ณ  นครกบิลพัสดุ์  อันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าศากยะ  ซึ่งเป็นพระญาติข้างฝ้ายพระพุทธบิดา  กับพระนครเทวทหะอันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าโกลิยะซึ่งเป็นพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธมารดา  ทั้งสองพระนครนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโรหินี  ชาวนาของ  ๒  นครนี้  อาศัยน้ำในแม่น้ำโรหินีนี้ทำนาร่วมกันมาโดยปกติสุข  ต่อมาสมัยหนึ่งฝนแล้ง  น้ำน้อย  น้ำในแม่น้ำโรหินีก็น้อย  ชาวนาทั้งหมดต้องกั้นทำนบทดน้ำในแม่น้ำโรหินีขึ้นมาทำนา  แม้ดังนั้นแล้วน้ำก็หาเพียงพอไม่  เป็นเหตุให้มีการแย่งน้ำทำนากันขึ้น  ชั้นแรกก็เป็นการวิวาทกันเฉพาะเพียงบุคคลต่อบุคคล  แต่เมื่อไม่มีการระงับด้วยสันติวิธี  การวิวาทนั้นก็ลุกลามมากขึ้นจนถึงคุมสมัครพรรคพวกเข้าประหารกัน  และด่าว่ากระทบถึงชาติ  โคตร  และลามปามไปถึงราชวงศ์ในที่สุด  กษัตริย์ผู้เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระนคร  ก็กรีฑาออกประชิดกันเพื่อแย่งน้ำในแม่น้ำโรหินี  เพื่อสัมประหารกัน  โดยหลงเชื่อคำเท็จทูลของอำมาตย์ที่กำลังเคียดแค้น  มิทันได้ทรงวินิจฉัยให้ถ่องแท้แน่นอนว่า  เมื่อเรื่องเล็กน้อยเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้วควรจะทรงระงับเสียด้วยสันติวิธี  อันชอบด้วยพระราโชบายที่รักษาสันติสุขของประเทศ
    พระบรมศาสดาได้ทรงทราบ  ก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จไปห้ามสงครามการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหินีระหว่าง  พระญาติทั้งสองโดยทรงแสดงโทษ  คือความพินาศย่อยยับของชีวิตมนุษย์โดยเหตุอันไม่สมควรที่กษัตริย์ต้องมาล้มตายทำลายเกียรติของกษัตริย์  เพราะเหตุแย่งน้ำเข้านาเพียงเล็กน้อย  ครั้นพะญาติทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจกันได้  และคืนดีกันแล้ว  พระองค์ก็เสด็จพุทธดำเนินกลับ
    พระพุทธจริยาที่ทรงแสดงธรรมโปรดพระญาติ  เพื่อห้ามมิให้ทะเลาะวิวาท  สู้รบกัน  เพราะเหตุแห่งน้ำในแม่น้ำโรหินีนี้เป็นมงคลแสดงอานุภาพของพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธศาสนิกชนผู้หนักในธรรมคำสั่งสอน  เล็งเห็นเป็นคุณอัศจรรย์ยิ่งแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์  จึงถือเป็นเหตุในการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเรียกว่า  “ปางห้ามสมุทร”  บ้าง เรียกว่า “ ปางห้ามญาติ” บ้าง
    ดังนั้น  ปางห้ามสมุทรและปางห้ามญาติจึงเป็นพระพุทธรูปปางเดียวกัน  แต่มีบางท่านเห็นว่าปางห้ามญาตินั้นยกมือเดียว  ปางห้ามสมุทรยก  ๒ มือ  แต่บางท่านก็เห็นตรงกันข้ามว่าปางห้ามสมุทรยกมือเดียว  ปางห้ามญาติ  ๒  มือ  คือห้ามทั้งสองฝ่าย  ต้องยก  ๒  มือถ้ายกมือเดียว  ก็ห้ามฝ่ายเดียวไม่เป็นธรรม ฝ่ายที่ไม่ถูกห้ามก็จะได้ใจ  แต่ฝ่ายถูกห้ามจะเสียใจ  จะไม่เชื่อถือแล้ว  สงครามก็จะไม่สงบระงับได้

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์