ปางพระเกศธาตุ

   

ลักษณะพุทธรูป
    พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ซ้ายหงายลงบนพระเพลา  พระหัตถ์ขวายกขึ้นแนบชิดพระเศียร  แสดงถึงกิริยาเสยพระเกศา


ประวัติความเป็นมา
    เมื่อพระพุทธองค์เสร็จการเสวยภัตตกิจแล้ว  ตปุสสะและภัลลิกะ  สองพานิชจึงกราบทูลว่าข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ  ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองขอถึงพระองค์กับพระธรรมเป็นสรณะ  ขอพระองค์จงทรงทราบว่า  ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองเป็นอุบาสก  ในพระพุทธศาสนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  ตราบเท่าอวสานแห่งชีวิต  แล้วกราบทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ซึ่งควรแก่การอภิวาทในยามอนุสรณ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณจึงยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นลูบพระเศียรเกล้า  ได้พระเกศา  ๘  เส้นซึ่งนิยมเรียกว่า  “พระเกศาธาตุ”  แล้วทรงประทานพระเกศาธาตุทั้ง  ๘  เส้นนั้นแก่สองพานิช  ตปุสสะ  ภัลลิกะ  ได้น้อมรับพระเกศาธาตุทั้ง ๘ เส้นด้วยโสมนัสเป็นอันมากแล้วก็กราบบังคมลาไป
    พานิชทั้งสองนั้น  ได้เป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ในเทววาจิกสรณคมน์  คือถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมทั้งสองเป็นสรณะ  ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้นในโลกเมื่อพานิชทั้งสองนั้นเดินทางกลับถึงเมืองของตนแล้ว  และได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศาธาตุนั้นไว้ทั้ง  ๘  เส้น  เพื่อเป็นที่สักการบูชาแก่มหาชนทั่วไป
    พระพุทธจริยาที่ทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสวยพระเกศาเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรปขึ้นซึ่งเรียกว่า “พระปางเกศธาตุ”

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์