ปางอธิษฐานเพศบรรพชิต หรือปางมหาภิเนษกรมณ์

   

ลักษณะพระพุทธรูป 

    พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิพระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา  พระหัตถ์ขวายกขึ้นตั้งฝ่าพระหัตถ์ตรงพระอุระ  เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย  เป็นกิริยาสำรวมจิตอธิษฐานเพศบรรพชิต  พระพุทธรูปปางนี้ไม่มีพระรัศมีบนพระเศียร  ด้วยนิยมว่าพระรัศมีจะมีก็ต่อเมื่อได้ตรัสรู้แล้วปางมหาภิเนษกรมณ์ก็เรียก

ประวัติความเป็นมา

    เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ  ก็ทรงโสมนัสเกี่ยวกับการประสูติของพระราชกุมารเป็นอันมาก  ขึงได้เสด็จมาอัญเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี  แวดล้อมด้วยราชบริวารกึกก้องด้วยดุริยางค์ประโคมแห่เสด็จเข้าพระนครกบิลพัสดุ์โปรดให้จัดพี่เลี้ยงนางนมพร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์บำรุงพระกุมาร  กับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวีเป็นอย่างดี

     พระราชกุมารครั้นเจริญวัยแล้ว  ก็ได้รับการศึกษาศิลปวิทยาเป็นอย่างดี  และครั้นเจริญด้วยพระชนพรรษา  สมควรมีพระราชเทวีได้แล้ว  พระราชบิดาก็โปรดให้สร้างปราสาท ๓  หลังงดงาม  เพื่อเป็นที่ประทับประจำ  ๓  ฤดู สำหรับพระราชโอรส แล้วตรัสขอพระนางยโสธรา  หรือพระนางพิมพามาอภิเษกให้เป็นพระชายา  พระสิทธัตถกุมารเสด็จอยู่ยังปราสาททั้ง ๓ นั้น  ตามฤดูทั้ง ๓ ซึ่งบำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคมขับ  ไม่มีบุรุษเจือปน  เสวยสมบัติทั้งกลางวันกลางคืนจนพระชนม์ได้  ๒๙  พรรษาจึงได้มีพระราชโอรสประสูติแต่พระนางพิมพาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า  “ราหุลกุมาร”

     วันหนึ่งพระสิทธัตถะ  เสด็จประพาสพระราชอุทยานโดยรถพระที่นั่ง  ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง  ๔คือ  คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะอันเทวดาทั้งแสร้งนิมิตไว้ในระหว่างทาง  ทรงเบื่อหน่ายในกามคุณ  เกิดความสังเวชเหตุได้เห็นเทวทูต ๓ ข้างต้น  อันพระองค์ยังไม่เคยพบมาในกาลก่อนแต่ยังความพอพระฤทัยในบรรพชาให้เกิดขึ้น  เพราะได้เห็นสมณะ  ครั้นเสด็จกลับถึงที่ประทับแล้วสิทธัตถกุมารก็ทรงพิจารณาสิ่งที่ได้พบเห็นมานั้น  ทรงหยั่งเห็นความแก่  ความเจ็บความตาย  กำลังครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน  ไม่ล่วงพ้นไปได้แม้แต่ตัวเราเองก็ต้องเป็นอย่างนั้นเข้าสักวันหนึ่งจนได้  ทั้งนี้ก็เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์  เมื่อเห็นผู้อื่นแก่  เจ็บ  ตาย  ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง  ไม่คิดถึงตัวว่าจะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้างเลย  เมาอยู่ในวัย  ในความไม่มีโรค  และในชีวิต  เหมือนหนึ่งว่าจะไม่ต้องแก่  เจ็บ  ตาย  ขวนขวายหาแต่ของอันมีสภาวะเช่นนั้น  ไม่คิดหาอุบายเครื่องพันบ้างเลยถึงพระองค์ก็ต้องมีอย่างนั้นเป็นธรรมดา  แต่การจะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างคนอื่นนั้น  เป็นการไม่ควรแก่พระองค์เลย

     เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบรรเทาความเมา  ๓  ประการกับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้  จึงทรงดำริต่อไปว่า  ธรรมดาสภาวะทั้งปวงย่อมมีของเป็นข้าศึกแก่กัน  คือเมื่อมีร้อนก็ต้องมีเย็นแก้  มีมืดก็มีสว่างแก้  บางทีจะมีอุบายแก่ทุกข์ คือ แก่  เจ็บ  ตาย  ๓  อย่างนั้นได้บ้างกระมัง  เป็นการยากมากยิ่งผู้ที่ยังอยู่ครองเรือนในฆราวาสวิสัยแล้ว  จะแสวงหาไม่ได้เลยเพราะชีวิตฆราวาสนี้เป็นที่คับแค้นนัก  ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง  เหตุด้วยความรัก  ความชัง  ความหลงเป็นดุจทางมาแห่งธุลี  ส่วนบรรพชาเป็นช่องว่าง  พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้  ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้วก็มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา  ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ  เมื่อทรงแน่พระทัยว่าบรรพชาเป็นอุบายให้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นทุกข์ได้เช่นนั้น  ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง

     ครั้นพระสิทธัตถกุมารทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น  ก็ทรงเห็นว่าทางที่จะให้พระองค์ออกบรรพชาได้นั้นมีอยู่ทางเดียวคือเสด็จออกจากพระนคร  ตัดความอาลัย  ความเยื่อใยในราชสมบัติ  พระชายา  และพระราชโอรส  กับทั้งพระประยูรญาติ  ตลอดราชบริวารทั้งสิ้นเสีย  แต่ถ้าจะทูลลาพระราชบิดาก็คงจะถูกทัดทาน  ยิ่งมวลพระประยูรญาติด้วยแล้วถ้าทราบเรื่องก็จะรุมกันห้ามปราม  การเสด็จออกซึ่งหน้าไม่เป็นผลสำเร็จได้  เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้ว  ในราตรีนั้นเอง  เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำไม่ทรงใยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลาย  ที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ

     เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัด  ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอเหล่านั้น  นอนหลับเกลื่อนอยู่ภายในปราสาทซึ่งสว่างด้วยแสงประทีปโคมไฟ  บางนางอ้าปากกัดฟัน  น้ำลายไหล  บางนางผ้าหลุด  บางนางกอดพิณ  บางนางก่ายเปิงมาง  บางนางบ่นละเมอนอนกลิ้งกลับไปมา  ปรากฏแก่พระสิทธัตถะประดุจซากศพอันทิ้งอยู่ในป่าช้า  ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ไหนแต่ไรมา  ได้กลายเป็นป่าช้าปรากฏแก่พระสิทธัตถะในขณะนั้น  เป็นการเพิ่มกำลังการดำริในการออกบรรพชาในเวลานั้นขึ้นอีก  ทรงเห็นบรรพชาเป็นทางที่ห่างอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา  เป็นช่องทางที่จะบำเพ็ญปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น  ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน  ครั้นทรงตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว  ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์  รับสั่งเรียกนายฉันนะอำมาตย์ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะ  เพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น

    ครั้นตรัสสั่งแล้ว  ก็เสด็จไปยังปราสาทนางพิมพาเทวีเพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมารพระราชโอรสองค์เดียวของพระองค์เห็นพระนางบรรทมหลับสนิทพระกรกอดพระโอรสอยู่  ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย  แต่ก็เกรงพระนางจะตื่นบรรทมเป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา  จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาพระโอรสเสด็จออกจากห้อง  เสด็จลงจากปราสาทพบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้พร้อมแล้วก็เสด็จขึ้นม้ากัณฐกะ  มีนายฉันนะตามเสด็จหนึ่งคน  เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาลนั้น  ซึ่งเทพยดาก็บันดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี

    เมื่อเสด็จพ้นจากพระนครไปแล้ว  พญาวัสวดีมารก็มาขัดขวางทางเสด็จ ทูลว่าอีก  ๗  วันสมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ์ ก็จะมาถึงพระองค์แล้ว  อย่าพึ่งรีบเสด็จออกบรรพชาเลยพระองค์ตรัสว่าแม้เราก็ทราบแล้ว  แต่สมบัติจักรพรรดิ์หาทำให้ผู้เสวยพ้นทุกข์ได้ไม่  ท่านจงหลีกไปเถิด  เมื่อทรงขับพญามารไปแล้ว  ก็ทรงขับม้ากัณฐกราชพาหนะบ่ายหน้าสู้มรรคา  เพื่อข้ามให้พ้นเขตราชเสมาแห่งกบิลพัสดุ์บุรี

    ครั้นเวลาใกล้รุ่งปัจจุสสมัย  ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานทีทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี  เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกบิลพัสดุ์บุรีแล้ว  ก็เสด็จลงจากหลังอัศวราชประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด  รับสั่งแก่นายฉันนะว่า  เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิตในที่นี้  ท่านจงเอาเครื่องประดับกับม้าสินธพกลับพระนครเถิด  ครั้นตรัสแล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยราชทั้งหมดออกมอบให้แก่นายฉันนะตั้งพระทัยปรารถนาทรงบรรพชาเปล่งพระวาจา  “สาธุ  โข ปพฺพชฺชา”  แล้วจึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย  พรระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี  ให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง  แล้วจับพระเมาลีโยนขึ้นไปในอากาศ  ทันใดนั้นสมเด็จอมรินทราธิราชก็ทรงเอาผอบทองมารองรับพระเมาลีเอาไว้แล้วนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลก

     ขณะนั้น  ฆฏิการพรหมก็นำเอาผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรมาจากพรหมโลกน้อมเข้าไปถวาย  พระสิทธัตถะทรงรับเอาแล้วทรงนุ่มห่มผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์  แล้วทรงตั้งพระหฤทัยอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต  อันเป็นอุดมเพศแล้วทรงประทานผ้าทรงทั้งคู่ที่เปลื้องออกมอบให้แก่ฆฏิการพรหม  ฆฏิการพรหมก็น้อมรับเอาผ้าคู่นั้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ในพรหมโลกสถาน

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์