ปางนาคปรก

   

ลักษณะพระพุทธรูป

    พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบทรงหงายพระหัตถ์ทั้งสองแบวางซ้อนกันบนพระเพลา  พระหัตถ์ขวาซ้อนกับพระหัตถ์ซ้าย  มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องพระเศียร  บางแห่งสร้างเป็นแบบนั่งขัดสมาธิเพชร

ประวัติความเป็นมา

    ครั้นพระพุทธองค์เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข  ณ  ร่มไม้อชปาลนิโครธสิ้น  ๗  วันแล้ว  พระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้จิก  อันมีชื่อว่า “มุจลินท์”  ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ  แต่บังเอิญวันนั้นเกิดมีฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด  ๗  วัน  พญานาคมุจลินท์ผู้เป็นราชาแห่งนาคได้ออกจากนาคพิภพ  ทำขนดล้อมพระวรกาย  ๗  ชั้น  แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบนเหมือนกั้นเศวตรฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า  ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย  ทั้งป้องกันเหลือบยุง  บุ้ง ร่าน ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย

      ครั้นฝนหายขาดแล้ว  พญามุจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า  จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์  ในที่เฉพาะพระพักตร์ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า :-

สุโข  วิเวโก  ตุฏฐสฺส           สุตธมฺมสฺส  ปสฺสโต

อพฺยาปชฺชํ  สุขํ  โลเก          ปาณภูเตสุ  สญฺญโม

สุขา  วิราคตา  โลเก            กามานํ  สมติกฺกโม

อสฺมิมานสฺส  วินโย             เอตํ  เว  ปรมํ  สุขํ

     ความว่าความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว  รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร  ความเป็นคนไม่เบียดเบียน  คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย  และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด  คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้เป็นสุขในโลก  ความนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ  คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้เป็นสุขอย่างยิ่ง

       พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข  ภายในวงขนดของพญามุจลินท์นาคราชที่ขดแวดล้อมพระกายอยู่นี้เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมาเรียกว่า “ปางนาคปรก”

      เรื่องพระนาคปรกนี้  นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า  องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง  ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพวกพราหมณ์

       ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามประวัติ  ก็จะเป็นไปอีกในลักษณะหนึ่ง  คือ  พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระวรกายด้วยขนดตัวพญานาคถึง ๔-๕  ชั้น  จนบังพระวรกายมิดชิด    เพื่อป้องกันฝนและลมจะเห็นได้ก็เพียงพระเศียร  พระศอ  และพระอังสาเป็นอย่างมาก  ทั้งเบื้องบนก็มีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย  ขอให้ดูพระพุทธรูปปางนาคปรกในหนังสือพุทธประวัติทัศนะศึกษา  ที่ถ่ายมาจากโบสถ์พระแก้วในพระบรมมหาราชวังเป็นตัวอย่าง

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์